ทายาทโรงงานขนม ‘ไทยบีบีฟรุท’ ผู้เชื่อในความสำคัญของการสื่อสาร  การรู้จักตนเอง และการมีเป้าหมายที่ชัดเจน

ทายาทโรงงานขนม ‘ไทยบีบีฟรุท’ ผู้เชื่อในความสำคัญของการสื่อสาร การรู้จักตนเอง และการมีเป้าหมายที่ชัดเจน

ทำที่บ้าน

ถ้าพูดถึงขนมในความทรงจำของเด็กยุค 90 เชื่อว่าลูกอมสายรุ้ง หรือลูกกวาดหลากสี จะเป็นหนึ่งในสิ่งที่คนส่วนใหญ่นึกถึงอย่างแน่นอน ซึ่งบริษัท ไทยบีบีฟรุท จำกัด ก็เป็นผู้ผลิตและจัดจำหน่ายขนมที่ทำจากน้ำตาล (Sugar Confectionery) ที่อยู่เบื้องหลังขนมหวานขวัญใจเด็กไทยหลากหลายรูปแบบมากว่า 50 ปี และในวันนี้ ไทยบีบีฟรุท ก็มีทายาทรุ่นที่ 2 มาสานต่อธุรกิจนี้แล้ว

‘ทำที่บ้าน’ ขอชวนทุกคนมาพูดคุยกับ “คุณพอลลีน - พิมลพัชร์ ธนุสุทธิยาภรณ์” ทายาทรุ่นที่ 2 ของไทยบีบีฟรุท ผู้มาช่วยดูแลธุรกิจของที่บ้าน ควบคู่ไปกับการบุกเบิกธุรกิจใหม่ด้านลูกอมสุขภาพสำหรับเด็กที่เธอสร้างขึ้นมาเองกับมือ วันนี้เธอมาแบ่งปันประสบการณ์และมุมมองในการทำธุรกิจที่เป็นประโยชน์ทั้งในฐานะเจ้าของธุรกิจส่วนตัวและในฐานะทายาทผู้สานต่อธุรกิจครอบครัวให้ยั่งยืน มารู้จักแนวคิดและตัวตนของเธอไปพร้อมกัน

จุดเริ่มต้นของ ไทยบีบีฟรุท


บริษัทผลิตขนมและลูกอมรสหวานที่ก่อตั้งมากว่า 50 ปีแห่งนี้ เริ่มต้นจากกระทะต้มน้ำตาลใบเดียว ก่อนจะเติบโตจนกลายเป็นธุรกิจส่งออกที่เฟื่องฟู 

“เมื่อก่อน คุณพ่อเป็นคนจีนที่ฐานะยากจน รับจ้างทำงานที่โรงงานขนม แบกหาม ทำทุกอย่าง ด้วยความที่คุณพ่อพูดเก่ง มนุษยสัมพันธ์ดี และฉลาด จึงได้เลื่อนตำแหน่งมาเรื่อยๆ จนคุณพ่อตัดสินใจออกมาเริ่มธุรกิจของตัวเอง จากกระทะใบเดียวที่ใช้ต้มน้ำตาล คุณพ่อคิดสูตรเอง พอเริ่มขายก็มีสินค้าติดตลาดและเริ่มเติบโต จนถึงจุดที่ส่งออกต่างประเทศ เราอยู่ในโรงงานและได้เห็นบรรยากาศการทำงานตั้งแต่เด็ก จนมาถึงจุดพลิกผันช่วง IMF ที่สถานะทางเศรษฐกิจเริ่มเปลี่ยนไป”

เหตุผลที่กลับมา ‘ทำที่บ้าน’


ก่อนที่คุณพอลลีนจะกลับมาทำที่บ้าน เธอมีประสบการณ์ในการเป็นพนักงานบริษัทไปจนถึงเป็นเจ้าของธุรกิจของตนเอง โดยหลังเรียนจบด้านแฟชันดีไซน์ เธอได้ไปทำงานด้านแฟชันที่ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อกลับมาก็เปิดธุรกิจล้างรถด้วยไอน้ำที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี ก่อนจะตัดสินใจนำทักษะที่ได้เรียนรู้กลับมาสานต่อธุรกิจครอบครัว 

“เราเห็นคุณค่าของฐานที่พ่อแม่สร้างให้ และเรามีแนวคิดว่า ทุกอย่างมันมีทางไปได้เสมอ ที่บ้านสร้างฐานมาให้เรา เป็นประสบการณ์ที่หาไม่ได้จากที่ไหน เราโชคดีที่เรามีความรู้ตรงนั้น และเราเคยทำธุรกิจจากศูนย์ด้วยตัวเองมาก่อนแล้ว เรารู้ว่าประสบการณ์มันต้องกลั่นมาจากการลงมือทำและผ่านเวลา เราถึงมองว่ามันมีค่า ถ้าถามว่าไอดอลในการทำธุรกิจคือใคร สำหรับเราคือคุณพ่อ รู้สึกทึ่งว่าเขาเริ่มต้นธุรกิจกันมาได้อย่างไร เรารู้สึกโชคดีที่ได้เป็นรุ่นสองที่มาสานต่อ”

เข้าใจ รับฟัง ค่อยๆ เปลี่ยนแปลง


“ตอนกลับมาทำที่บ้าน พบว่า ยากกว่าที่คิดเยอะมาก ตอนเราทำเอง มันอะไรก็ได้ ตามใจเรา เรามีความคิดสร้างสรรค์ อยากลองทำนั่นนี่ พอเข้ามาก็มีไอเดียใหม่ๆ เหมือนทายาททั่วไป และความท้าทายหนึ่งที่ทายาททุกคนต้องเจอ คือ ธุรกิจที่บ้านจะมีวัฒนธรรมและทีมงานเดิมที่เห็นเราตั้งแต่ยังเล็ก เราโชคดีตรงที่พนักงานรักเราเหมือนครอบครัวของเขา อะไรที่สนับสนุนเราได้ เขาก็ช่วยเรา แต่เราต้องเข้าใจก่อนว่า มันมีความเคยชินเดิมที่เขาทำไว้อยู่ เราต้องฟังเขาก่อน ไม่ได้เข้าไปตัดสินว่ามันผิด เพราะถ้ามันผิด ธุรกิจมันคงไม่มาถึงทุกวันนี้หรอก บางทีเราลืมไปว่า มันอยู่มาก่อนเรานานมากเลยนะ”

“ถ้าเราเข้าไปด้วยความเข้าใจ เราจะไม่ทุกข์ และเราจะค่อยๆ แก้ได้ หรือถ้าแก้ไม่ได้ ก็ไม่เป็นไร ถ้าเปลี่ยนแปลงยาก เราก็หาสิ่งที่เราอยากทำใหม่ มาลองทำขนานกันไปก่อน ค่อยๆ เริ่ม ค่อยๆ แทนที่กันได้ ใช้ความเข้าใจและเวลา มันไม่สามารถพลิกได้เลย ยกตัวอย่างเช่น เราอยากให้มีประชุมรายสัปดาห์ แต่งานล้นมือมากเกินกว่าที่เขาจะมานั่งทำรายงานการประชุมเพิ่ม เราเลยสร้าง dashboard framework มาช่วยให้เขาทำงานสะดวกขึ้นและเราได้เห็นรายงานด้วย ถ้าเราอยากสร้างการเปลี่ยนแปลง เราต้องช่วยเขาก่อน”

สานต่อเส้นทางเดิมและบุกเบิกเส้นทางของตัวเอง


คุณพอลลีนแบ่งปันวิธีทำงานกับที่บ้านอย่างราบรื่นและตอบโจทย์ความต้องการของตนเองไว้ว่า เธอเลือกมองเป็นสองส่วน คือส่วนที่เธอสานต่อธุรกิจเดิม และส่วนที่เธออยากลองบุกเบิกธุรกิจใหม่ที่ตรงกับความสนใจของตนเอง 

“ถ้าอะไรที่ทำมาดีอยู่แล้ว เช่น ไลน์ธุรกิจที่เข้มแข็ง คู่ค้าที่ดี เราก็เข้าไปช่วยทำต่อ ส่วนอะไรที่เราสนใจเพิ่มเติม เราก็เข้าไปสร้างเส้นทางใหม่ ทำสินค้าตัวใหม่ที่ต่อยอดจากสินค้าเดิม เราสร้าง Petite Pop ลูกอมสุขภาพสำหรับเด็ก (Functional Candies) ขึ้นมา โดยที่เราทำทุกอย่างเองหมดเลย ทั้งคิดสูตร ออกแบบบรรจุภัณฑ์ ขอใบอนุญาต เราขอลองทำเองก่อน ไม่ได้รู้สึกว่า ที่บ้านไม่ช่วยหรือไม่เห็นด้วย เพราะเราคิดว่า แค่ได้ลองก็โอเคแล้ว กลายเป็นข้อดีที่เราได้ลองเองทุกอย่าง พอมาถึงวันนี้ ถ้าต้องพัฒนาอะไรที่เกี่ยวกับ Functional Candies เรารู้หมดเลย ตอนนั้นเราทำควบคู่กัน ทั้งช่วยสานต่อเส้นทางเดิม และบุกเบิกเส้นทางใหม่”

สื่อสารอย่างตรงไปตรงมา บนรากฐานความสัมพันธ์ที่แนบแน่น


“การทำงานกับครอบครัวก็เหมือนทำงานกับที่อื่น มันมีไม่เห็นด้วยกันอยู่แล้ว น้องคิดอย่าง พี่คิดอย่าง แต่เราสามารถคุยกันตรงๆ แบบไม่เก็บมาเป็นเรื่องส่วนตัวได้ พูดกันตรงไปตรงมาดีที่สุด โชคดีที่เรารู้จักกันดี ขอบคุณคุณพ่อที่เลี้ยงพวกเรามาให้สนิทกันมากตั้งแต่เด็ก ถึงแม้บางอย่างที่เราพูดมันจะดูแรง แต่เรารู้ว่า นั่นเป็นเรื่องงาน ความสัมพันธ์ระหว่างเรายังดี ไม่ว่าที่ทำงานมันจะขัดแย้งกันขนาดไหน แต่สุดท้ายก็จบในงาน และเรายังรักกันเหมือนเดิม” 

ค้นหาตัวเองเพื่อกลับมาช่วยครอบครัว


หลายคนที่กลับมาทำที่บ้าน ยังหลงทางอยู่ว่าตัวเองถนัดอะไร เลยไม่รู้ว่าเราจะมาช่วยด้านไหนดี คุณพอลลีนแนะนำว่า ให้ลองเก็บประสบการณ์จากนอกบ้าน จะช่วยให้เราเจอทักษะที่ตนเองถนัด ก่อนจะนำกลับมาปรับใช้กับครอบครัวของตนเอง 

“การออกไปทำงานข้างนอกเพื่อหาตัวเองให้เจอว่าเราเก่งเรื่องไหนเป็นเรื่องสำคัญเหมือนกัน ลองผิดหวัง ลองเรียนรู้ ทำให้เรารู้ว่าเราเก่งอะไร เราถนัดอะไร เราจะได้ใช้ทักษะนั้นเข้าไปช่วยที่บ้านเราได้ พี่สาวเราเคยบอกว่า การทำที่บ้านเหมือนกับการที่เราถูกจับโยนลงทะเลแล้วต้องหาวิธีว่ายเอง ถ้าเราบ่นว่า ไม่มีอะไรให้ทำ ทำไม่ได้ จริงๆ คือ เราว่ายไม่ได้เอง เราต้องหาทางว่ายเอง แล้วค่อยสร้างระบบขึ้นมาจากประสบการณ์ที่เราเจอ”

Family Meeting สื่อสารกันในครอบครัว


คุณพอลลีนเชื่อว่า การสื่อสารพูดคุยกันให้ชัดเจนเป็นเรื่องสำคัญและมีประสิทธิภาพ ไม่เพียงแค่ในที่ทำงานเท่านั้น แต่รวมถึงในสถาบันครอบครัวด้วย เธอจึงชวนคนที่บ้านมาประชุมกันในครอบครัวปีละครั้ง เพื่อพูดคุยให้เข้าใจตรงกัน แบ่งหน้าที่รับผิดชอบกันอย่างชัดเจน ซึ่งเธอพบว่ามันมีประโยชน์มากกับครอบครัวของเธอ 

“เราไปเช่าห้องประชุมข้างนอก อยู่ในบรรยากาศของการประชุมงานจริงๆ เพื่อพูดคุยกันในเรื่องของครอบครัวทั้งหมด เช่น การบริหารจัดการทรัพย์สินในครอบครัว การดูแลสุขภาพของพ่อแม่ รวมถึงเรื่องอื่นๆ ที่เราอยากอัปเดตกัน เพราะเรารู้สึกว่า พอเราเติบโตแล้ว เรามีเส้นทางแยกออกไป มีครอบครัวของตัวเอง แต่ครอบครัวหลักที่เราโตด้วยกันมา มันก็ยังมีเรื่องที่ต้องจัดการอยู่ เราคิดว่า การทำให้เข้าใจตรงกัน มีเป้าหมายตรงกัน เป็นเรื่องสำคัญ และการไม่คุยกัน ทำให้ปัญหาค้างคา โชคดีที่พี่น้องเราไม่ได้คิดอยากได้อะไร คิดแค่มาทำเพื่อครอบครัว มันเลยคุยกันง่าย แบ่งงานกันเลยว่าใครทำอะไร เป็นประโยชน์มากจริงๆ”

“ถ้าใครอยากลองเอาไปปรับใช้ เราแนะนำว่า เริ่มจากระบุสิ่งที่เราอยากคุยก่อน เหมือนวาระการประชุมในธุรกิจเลย แต่เป็นเรื่องภายในครอบครัว อีกอย่างคือ เราต้องมีการนำเสนอ มีเอกสารให้มันเป็นรูปธรรม มีรายงานการประชุม ไม่งั้นมันจะหายไป ที่ต้องไปเช่าห้องประชุมคุยข้างนอก เพราะคิดว่า บรรยากาศก็สำคัญ ที่บ้านเราเจอกัน กินข้าวกันบ่อย ถ้าบรรยากาศมันผ่อนคลายเกินไป มันก็เป็นอีกแบบ เราเลยต้องไปเช่าห้องประชุม ให้รู้ว่าวันนี้เราคุยกันด้วยท่าทีอีกแบบหนึ่ง ซึ่งได้ผลดีและใช้ได้จริง”  

ค้นหาจุดอ่อนจุดแข็งให้เจอ เพื่อพัฒนาอย่างสม่ำเสมอ


ต้องยอมรับว่า ไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับทายาทจะเข้าไปสานต่อธุรกิจอายุหลายสิบปีโดยได้รับความไว้ใจในทันที ต้องอาศัยเวลาและการมีประสบการณ์จากการลงมือทำ เพื่อเรียนรู้จุดอ่อนจุดแข็งของตนเองและองค์กร ก่อนจะนำมาพัฒนาต่อยอดให้เติบโตยิ่งขึ้น 

“เราเริ่มจากจุดที่เราถนัดก่อน ไปเรียนรู้สิ่งที่เขาทำมา เราได้ลองทำจริงทุกแผนก ทั้งในแผนกที่ถนัดและไม่ชอบ เราจะได้รู้ว่าอะไรคือจุดอ่อนขององค์กร อะไรคือจุดอ่อนของเรา อย่างกรณีของพอลลีนคือ คุยกับบัญชีและการเงินไม่รู้เรื่องเลยจริงๆ เพราะเราเรียนดีไซน์มา จนเราเลือกไปเรียนบริหารธุรกิจเพิ่ม เพราะมันไม่สามารถมีข้ออ้างว่า เราไม่รู้ เราไม่ทำ ถ้าเราจะเป็นผู้นำองค์กร เราก็ต้องหาความรู้ อีกอย่างคือ เราคิดว่าทุกคนมีสิทธิ์เลือกได้ว่าจะอยู่ใน comfort zone ของธุรกิจ คือขี่ตามคลื่นที่เขาทำมา หรือจะขยายตัวเองออกมา มองเห็นภาพกว้างขึ้น หาน่านน้ำใหม่ไปอีกระดับหนึ่ง ถ้าเราจะไปอีกระดับหนึ่ง เราต้องเข้าใจก่อนว่า ที่เป็นอยู่มันเป็นอย่างไร”

หลักสำคัญของการทำธุรกิจครอบครัว คือมีเป้าหมายที่ชัดเจน


“ส่วนแรก เริ่มที่ใจก่อนเลย ใจต้องมีเป้าหมายก่อน เข้าใจว่า ธุรกิจครอบครัวมันไม่ใช่สิ่งที่เราเริ่มเอง ความมุ่งมั่นหรือวิสัยทัศน์ก็ไม่ใช่ของเรา เราจึงต้องคุยกับตัวเองให้ชัดก่อน แล้วหาเป้าหมายในใจเราให้เจอ ถ้าเราดั้นด้นทำไปโดยที่ไม่มีความหมาย มันจะเหนื่อยมากที่จะทำต่อในระยะยาว” 

“อย่างเราเอง จริงๆ ก็ไม่ค่อยอินกับตัวสินค้าเดิม การกินน้ำตาลล้วนๆ แบบนี้ ไม่ค่อยตรงกับค่านิยมในใจเราเลย แล้วทำอย่างไรดี เราจะอยู่กับสิ่งที่เราไม่มีใจ หรือเราจะสร้างสิ่งใหม่จากฐานเดิมที่เรามีล่ะ ส่วนที่สองคือ ความสำคัญของการสื่อสาร หมั่นพูดคุยประชุมกัน และเข้าไปคุยกับทีมงานด้วยความเข้าใจ ไม่ตั้งแง่ว่าของเดิมมันไม่ดี และคอยช่วยเหลือเขา มันช่วยให้เราผ่านการวิ่งมาราธอนนี้ไปได้แบบไม่โหดมากนัก ไม่อย่างนั้นเราคงจะวิ่งไม่ไหว” 

ฝากถึงทายาทที่กลับมา ‘ทำที่บ้าน’

“เรามองว่า การทำที่บ้าน คือความท้าทายใหม่ในชีวิตที่เราได้รับ มันเป็นพรวิเศษมากกว่าเป็นเรื่องน่าเบื่อที่ไม่อยากทำ อยากให้ลองมองอีกมุมว่า ที่จริงเราโชคดีมากเลยที่มีคนสร้างฐานและหาประสบการณ์ให้เราก่อนแล้ว ตอนนี้มันขึ้นอยู่กับเราว่า จะหาท่าว่ายน้ำอย่างไร คนที่มีจิตวิญญาณของการเป็นเจ้าของธุรกิจ จะทำธุรกิจอะไรก็ได้อยู่แล้ว ถ้าเรากลับมาทำที่บ้าน เราไม่ต้องว่ายตามใครก็ได้ เราแค่หาท่าว่าย หาเส้นทางของตัวเองให้เจอ และทำให้สุดตัว มันก็จะสนุกและท้าทายเหมือนกับธุรกิจอื่นๆ ที่เราทำ”