สิ่งที่ทายาทควรรู้ก่อนเปลี่ยนแปลงธุรกิจครอบครัว
ในการสืบทอดทางธุรกิจ มีหลายสิ่งที่ผู้รับไม้ต่อต้องคำนึงถึงเพื่อพัฒนาแบรนด์ให้ตอบสนองต่อความต้องการในบริบทที่ทันสมัยเป็นปัจจุบัน แต่ในขณะเดียวกันก็รักษา heritage ของตัวเองไว้ได้ครบถ้วน ราวกับงานสานต่อคือการว่ายทวนกระแสกาลเวลา
คุณปิ๊ก – ธรรศภาคย์ เลิศเศวตพงศ์ ทายาทรุ่นที่ 2 แบรนด์เครื่องหนัง Ragazze เจ้าของหนังสือ “ วิชาธุรกิจที่ชีวิตจริงเป็นคนสอน ” เขามีมุมมองต่อการเปลี่ยนผ่านของธุรกิจครอบครัวจากรุ่นสู่รุ่นที่ลึกซึ้งน่าสนใจ ด้วยประสบการณ์ตรงจากการเป็นทายาทรุ่น 2 ที่ช่วงหนึ่งได้กลับไปสานต่อธุรกิจของครอบครัว จนเป็นแบรนด์ที่เป็นตำนานในวงการเครื่องหนังไทยกว่า 37 ปี
แสงใหม่ที่จุดประกายขึ้นในธุรกิจแฟชั่นไทย
Ragazze เริ่มต้นขึ้นในปี 1984 สมัยคุณปิ๊กอยู่ชั้นม.3 หลังจากที่คุณพ่อและคุณแม่ของคุณปิ๊กกลับจากการเที่ยวยุโรป และได้แรงบันดาลใจจากย่านทำเครื่องหนัง handmade ในเมือง Florence
“เค้าเดินเที่ยวเห็นแล้วก็คิดว่าแบบนี้ไม่มีในไทย เพราะตอนนั้นลักษณะรองเท้า กระเป๋า ทำจากโรงงานเป็นส่วนใหญ่ จึงคิดว่าสไตล์แบบนี้ขายได้ จากนั้นก็กลับมาเปิดเลย” คุณปิ๊กเล่า “คือมันเป็นเรื่องที่น่าแปลกใจเพราะคุณแม่ไม่ได้เรียนแฟชั่นดีไซน์ วาดรูปก็ไม่เป็น แต่ใช้วิธีการอธิบายกับช่างตัดหนัง และทำออกมาจนได้ จนเริ่มต้นเป็นร้าน Ragazze ที่ขยายตัวเร็วมาก”
ในวันนั้น นับเป็นความแปลกใหม่อย่างยิ่งยวดที่ Ragazze เข้ามาเป็นร้านเครื่องหนังที่สอนให้คนซื้อรู้จักสไตล์การแต่งตัว จากการซื้อของในห้างสรรพสินค้ายุคนั้นที่สินค้าวางเรียงกันเป็นตับเหมือนโรงงาน Ragazze กลับวางสินค้าเข้าเซ็ตกัน ทั้งกระเป๋า รองเท้า เข็มขัด ให้ลูกค้ามองเห็นการออกแบบการแต่งกาย นอกจากนี้ร้านยังเริ่มออกสินค้าเป็นคอลเล็กชั่น มีการทำแคตตาล็อก รวมถึงเลือกใข้นางแบบนายแบบฝรั่งทั้งสิ้น เรียกได้ว่าเป็นวิสัยทัศน์ที่จุดประกายธุรกิจให้ล้ำเกินใคร กลายมาเป็นตำนานถึงปัจจุบัน
ก้าวแรกของการสานต่อ: เปลี่ยนการกระจายสินค้าแบบเก่าสู่ระบบควบคุมสต๊อกสินค้า
คุณปิ๊กเริ่มช่วยงานธุรกิจนี้จากการจัดของไปตามสาขา ทั้งปั๊มโลโก้ที่หางเข็มขัดด้วยตนเองจนคุ้นเคยกับสัมผัสและสไตล์ แม่นมาจนปัจจุบันที่ขนาดเดินผ่านคุณปิ๊กยังบอกได้ว่านี่คือ Ragazze
จากนั้นในช่วงเรียนมหาวิทยาลัย คุณปิ๊กเข้ามาช่วยเต็มตัวด้วยการทดสอบระบบบัญชี เริ่มซื้อโปรแกรมมาทดลองทำเพราะคุณปิ๊กมองว่าการไม่มีระบบทำให้บริหารยาก
“สมมติว่าลูกค้าไปที่สาขาลาดพร้าว อยากได้รองเท้าสีนี้ แต่ไซส์ไม่มี เราต้องโทรอีก 10 ครั้งกว่าจะเจอเพราะเราไม่มีระบบสต๊อกกลาง บางครั้งถึงโทร 10 ครั้งก็ไม่มีเพราะมันขายหมดไปแล้ว คุณคิดถึงสภาพตอนลูกค้ายืนมองเราโทรศัพท์ ครั้งที่หนึ่งไม่เจอ ครั้งที่สองไม่เจอ มันเป็นภาพที่ไม่น่าดู” คุณปิ๊กอธิบาย “ลูกค้าเค้าไม่รู้หรอกว่าเรามีการจัดการยังไง เค้าจะมองแค่ว่า มันยากเย็นขนาดนั้นเลยเหรอ การหาของให้ฉักสักชิ้นเนี่ย?”จากตัวอย่างนั้นทำให้เราเข้าใจเลยว่า คุณปิ๊กมองปัญหาด้วยมุมมองของลูกค้าพร้อม ๆ กับสายตาเจ้าของธุรกิจ
ในตอนนั้น Ragazze ยังบริหารแบบ decentralize ให้ทุกสาขาบริหารและรับผิดชอบสต็อกของตัวเอง ซึ่งมีข้อดีแต่กลับเป็นปัญหาเวลาต้องการข้อมูลภาพรวม จากประสบการณ์ที่คุณปิ๊กได้ทำงานที่บริษัทอื่นมาก่อน เขาจึงตั้งคำถามถึงระบบกระจายสินค้าของ Ragazze ที่ในตอนนั้นใช้อยู่ 2 วิธี คือการประมาณเฉลี่ยตามยอดขาย สาขาไหนขายมากก็ได้สินค้าไปมากโดยไม่มีการแบ่งประเภท และวิธีการหารเท่า แบ่งสินค้าให้ทุกสาขาเท่ากัน ซึ่งไม่ practical ในแง่ความเป็นจริงที่ควรกระจายสินค้าแยกตามความเหมาะสมแต่แรก
คุณปิ๊กเริ่มรับพนักงานบัญชีเพื่อดูแลงบการเงิน และต่อมาก็เริ่มปรับระบบฐานข้อมูลลูกค้า จากเมื่อก่อนมีเพียงสมุดรายชื่อลูกค้าแบบจดเรียงตามตัวอักษร แต่เมื่อมีสาขาเพิ่มมากขึ้น ทำให้แม้แต่จะหาข้อมูลลูกค้าสักคนก็เป็นเรื่องยาก คุณปิ๊กจึงเริ่มต้นแบบบ้าน ๆ ด้วยการทำ excel ส่งพนักงานไปเรียนและกลับมาผูกสูตรเอง กลายมาเป็นกลยุทธ์ใหม่เช่นการเก็บข้อมูลวันเกิดลูกค้า ให้ทางร้านสามารถส่ง4โปสการ์ดอวยพรวันเกิดตรงตามวันอย่างแม่นยำได้ นับเป็นการลงมือง่าย ๆ ที่ทำให้ลูกค้ารู้สึกว่าได้รับการดูแลใส่ใจมากขึ้น
นับจากนั้น Ragazze ก็ได้คุณปิ๊กมาเริ่มวางระบบบัญชี สต็อก และ POS ทั้งหมดให้แก่ร้าน