ทายาทแสงฟ้าอีซูซุเซลล์ ผู้เห็นคุณค่าของสถานบันครอบครัว และตั้งใจสานต่อธุรกิจให้มั่นคงยิ่งขึ้น

ทายาทแสงฟ้าอีซูซุเซลล์ ผู้เห็นคุณค่าของสถานบันครอบครัว และตั้งใจสานต่อธุรกิจให้มั่นคงยิ่งขึ้น

ทำที่บ้าน

หลายคนอาจเคยคุ้นชื่อของ “แสงฟ้าอีซูซุเซลล์” ดีลเลอร์ขายรถอีซูซุที่อยู่คู่คนไทยมากว่า 60 ปี วันนี้เรามีโอกาสได้พูดคุยกับคุณแบม ฉัตรพร ตันติศิริวัฒน์ ทายาทรุ่นที่ 3 ของบริษัทแสงฟ้าอีซูซุเซลล์ เธอมาแบ่งปันวิธีการแบ่งบทบาทหน้าที่การทำงานภายในครอบครัว และการสร้างความสัมพันธ์ให้คนในครอบครัวเกิดความเข้าใจกันมากที่สุด เพราะเธอเชื่อว่า หากความสัมพันธ์ในครอบครัวดีแล้ว การทำธุรกิจที่บ้านก็จะราบรื่นตามไปด้วย 

จุดเริ่มต้นของ “แสงฟ้าอีซูซุเซลล์”

คุณแบมเล่าว่า ธุรกิจครอบครัวของเธอนั้นเริ่มจากการที่อากงตอบตกลงที่จะเป็นดีลเลอร์ขายรถให้กับอีซูซุ และมีคุณพ่อมาช่วยพัฒนาสานต่อมาจนถึงปัจจุบัน “สมัยก่อน อากงเป็นนักธุรกิจที่ทำหลายอย่างภายใต้แบรนด์แสงฟ้า ทั้งโรงงานกระดาษ โรงงานเฟอร์นิเจอร์ ต่อมา อีซูซุมาเสนอให้อากงเป็นดีลเลอร์ให้ มีหลายเจ้ามาเสนอ แต่อากงมีวิสัยทัศน์ก้าวไกล ท่านเลือกทำอีซูซุ เพราะคิดว่ารถกระบะน่าจะเป็นสินค้าที่อยู่คู่คนไทยและคนไทยน่าจะได้ใช้มากที่สุด ส่วนคุณพ่อของแบมเป็นลูกชายคนโต พ่อเรียนจบด้านวิศวกรรมอุตสาหการจากสหรัฐอเมริกา และตั้งใจว่าจะกลับมาดูแลโรงงานกระดาษ”

“แต่พอเรียนจบกลับมา อากงมอบหมายให้คุณพ่อดูแลธุรกิจอีซูซุ ตอนนั้นผิดแผนของคุณพ่อ แต่คุณพ่อก็ทำงานหนักมาก ทำร่วมกับอากง ต้องมีการพัฒนาอยู่ตลอด เพราะบริษัทตรีเพชรอีซูซุเซลล์ ซึ่งเป็นบริษัทแม่ จะคอยดูผลการทำงานของเรา นัดประชุมเจอเจ้านายญี่ปุ่นตลอด และมีกิจกรรมให้ดีลเลอร์ในแต่ละจังหวัดได้พบปะกันบ่อยๆ ให้มี Community ที่พูดคุย ปรึกษากันได้” 

อยากขายรถช่วยที่บ้านมาตั้งแต่เด็ก

“แบมเกิดมาในตึกแถวของโชว์รูมเลย สาขาแรกของแสงฟ้าอีซูซุอยู่ในตึกแถวเล็กๆ แถวผัดไทยประตูผี เป็นศูนย์บริการเล็กๆ ที่มีลูกค้าเข้าออกตลอด เราก็ผูกพันกับบรรยากาศแบบนี้มาเรื่อยๆ บวกกับคุณพ่อพูดกรอกหูทุกวันว่า เรียนจบมาช่วยพ่อขายรถนะ เราเลยไม่เคยคิดอยากทำอาชีพอื่นเลยนอกจากมาขายรถช่วยพ่อที่บ้าน พอแบมอายุประมาณ 10 ขวบ ก็ย้ายบ้านไปอยู่แถวพุทธมณฑล และที่บ้านเริ่มเปิดโชว์รูมแถวโซนปริมณฑล” 

“ตอนเลือกเรียนต่อ เราเลยเรียนด้านบริหารธุรกิจไปเลย เลือกเรียน BBA จุฬาฯ จะได้มาช่วยที่บ้านได้ จำได้ว่าวันแรกที่กลับมา มันเป็นความรู้สึกที่ผสมปนเปกัน แง่หนึ่งก็รู้สึกคุ้นเคยกับผู้คนและสถานที่ แต่อีกแง่ก็รู้สึกกดดันเล็กๆ ที่เราต้องเข้ามาเป็นเจ้านายของพี่ๆ พนักงานที่เห็นกันมาตั้งแต่เด็ก คิดว่าทุกคนที่เข้ามาทำที่บ้านก็น่าจะเข้าใจความรู้สึกนี้เหมือนกัน”

ดูแลด้าน Digital Marketing ให้กับธุรกิจที่เป็น Offline-based 

ความท้าทายอย่างหนึ่งที่คุณแบมต้องเจอ คือการสร้างระบบการขายออนไลน์ให้กับองค์กรที่คุ้นชินกับการขายแบบ Offline มาเกินครึ่งศตวรรษ เธอจึงต้องสร้างระบบและทีมขึ้นมาใหม่ เพื่อทำให้ระบบออนไลน์ทำงานต่อไปได้ในสถานการณ์ปัจจุบัน 

“ตอนนั้นเข้ามาทำที่บ้านได้ไม่นานก็เจอ COVID บริษัทเริ่มมีนโยบายให้ทำ Online Marketing มากขึ้น คุณพ่อเลยให้แบมช่วยดูด้าน Digital Marketing แบมเลยเริ่มจับงานด้านออนไลน์เลย ตอนนั้นบริษัทอยู่มาเกือบ 60 ปี ทำทุกอย่างเป็นรูทีนและเป็น Offline-based พอเริ่มทำออนไลน์เราก็จะเห็นจุดอ่อนของทีมเดิม ทั้งในแง่ความคุ้นเคยและทักษะการใช้เครื่องมือออนไลน์ เราก็มานั่งคุยหาสาเหตุกัน และหาทีมใหม่มาเพิ่มเพื่อทำทีมขายออนไลน์แบบ 100% ในตอนที่ลูกค้า Walk-in เป็นศูนย์”

“พอเริ่มมีทีมจริงจังก็เริ่มขายออนไลน์ได้มากขึ้น จนมีสัดส่วนมากกว่าออฟไลน์แล้วภายในเวลา 2-3 ปี บริษัทตรีเพชรก็ช่วยสนับสนุนพนักงานด้วยการจัดอบรม มีสื่อให้ได้เรียนรู้การขายออนไลน์ มีงบประมาณให้ยิงโฆษณา จนตอนนี้กลายเป็นว่า ทุกคนทำออนไลน์เป็นแล้ว แบบ 100%”  

สร้างคาเฟ่ให้เป็น Community เล็กๆ ของโชว์รูม 

หลังจากงานด้านการตลาดออนไลน์ที่สาขาแรกเริ่มอยู่ตัว คุณแบมก็ได้รับบทบาทที่ท้าทายเพิ่มขึ้น ด้วยการขยับไปรับหน้าที่ดูแลระบบออนไลน์ที่โชว์รูมที่ใหญ่ที่สุดที่จ.ปทุมธานี กับความท้าทายด้านสถานที่ที่ค่อนข้างห่างเมือง เธอจึงตัดสินใจเปิดร้านกาแฟเล็กๆ ขึ้นมา เพื่อให้เป็นที่พบปะของผู้คน และทำให้โชว์รูมของเธอเป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น 

“ช่วงนั้นคุณพ่อไปสร้างโชว์รูมใหม่ เป็นโชว์รูมที่ใหญ่ที่สุด อยู่ที่จังหวัดปทุมธานี พอสร้างเสร็จแล้ว COVID ก็ยังหนักอยู่ เราเลยลองบริหารไปแบบยังไม่มีงาน Grand Opening  ตอนนั้นลูกค้า Walk-in ไม่มีเลย ด้วยโลเคชันที่มันไกล แบมเลยขอพ่อไปดูระบบออนไลน์และไปสร้างร้านกาแฟอยู่ที่นั่นด้วย ชื่อ ‘MODUS’ ตอนเปิดร้านกาแฟแรกๆ มีลูกค้าร้านกาแฟเยอะกว่าลูกค้าที่มาดูรถ แต่เขาไปบอกต่อกันว่ามีโชว์รูมรถอยู่ตรงนี้นะ ตอนนั้นมันท้าทายมาก เพราะโชว์รูมอยู่ไกลมาก ดีใจที่ตอนนี้คนรู้จักมากขึ้น”

“เหตุผลที่เราทำคาเฟ่ในโชว์รูมเพราะอยากให้มี Community ให้คนมาพบปะ มานั่งคุยกันในบรรยากาศดีๆ เวลามีดีลเลอร์มาเยี่ยมก็ต้อนรับในคาเฟ่ได้เลย และลูกค้าก็มานั่งได้ด้วย ถือเป็น Competitive Advantage หนึ่งของเรา”

ทำธุรกิจกงสีด้วยระบบ “Put the right man on the right job” 

“ที่บ้านของแบมทำธุรกิจแบบระบบกงสี มีลูกพี่ลูกน้องมาช่วยทำด้วย ทุกคนแบ่งงานและบทบาทหน้าที่กันชัดเจนมาก โดยมีคุณพ่อเป็นคนกำหนดหน้าที่ให้แต่ละคน อย่างลูกพี่ลูกน้องของแบมเขามีความถนัดด้านค้าขายกับลูกค้า Cooperate มาก่อน ก็ได้รับมอบหมายให้ไปดูด้านรถเล็ก เพราะต้องติดต่อกับ Cooperate เยอะ ลูกพี่ลูกน้องอีกคนเรียนมาด้านการเงิน ไว้ใจได้ ก็ให้ไปดูฝั่งการเงินกับน้องสาวแบม ส่วนลูกพี่ลูกน้องอีกคนเป็นคนทำงานละเอียดแม่นยำ ก็ให้ไปดูงานด้านศูนย์บริการลูกค้า ด้วยความที่เราต่างมีหน้าที่ เลยทำให้ไม่ค่อยได้เจอกันทุกวัน แต่จะมีการประชุมรวมอาทิตย์ละ 1 วัน แบมคิดว่า ที่เราทำงานได้เป็นระบบแบบนี้ เพราะคุณพ่อถนัดในการมองภาพรวม และมองเห็นว่าแต่ละคนมีความถนัดด้านไหน แล้วเลือกคนให้เหมาะสมกับงาน” 

เชื่อใจ ให้อิสระ วางตัวให้เหมาะสม ทำที่บ้านให้ราบรื่น 

คุณแบมยอมรับว่า เธอเองมีความกดดันอยู่บ้างในการทำที่บ้าน เพราะยังต้องทำงานร่วมกับคุณพ่ออยู่ 100% แต่ด้วยความที่คุณพ่อเห็นว่าคนเรามีความถนัดในด้านที่ต่างกัน และมีงานที่ให้เราต้องพัฒนาอยู่เสมอ คุณพ่อจึงให้อิสระในการหาวิธีทำงานที่ตอบโจทย์กับตัวเอง และประเมินจากผลลัพธ์เป็นหลัก โดยมีคำแนะนำเพิ่มเติมด้านการวางตัวให้เหมาะสมในที่ทำงาน 

“ด้วยความที่ยุคของเราถนัดกันคนละเรื่อง คุณพ่อเลยไม่ได้มากดดันว่าต้องทำวิธีเดียวกับเขา แต่ปล่อยให้เราได้ลองและดูที่ผลลัพธ์เป็นหลัก คุณพ่อเองก็มีหลายอย่างที่ต้องคิด เขาถนัดด้านคิดโครงการใหม่ๆ และกระจายงานให้เราไปทำต่อ ซึ่งแบมว่าดีมาก ถ้าไม่มีคุณพ่อ ทั้งองค์กรมันจะ เป็นรูทีนไปเรื่อยๆ ไม่เปลี่ยนตามยุคสมัย แบมว่าแบมโชคดีที่มีคุณพ่อให้ปรึกษาและไม่ได้กดดันเรา” 

“ปกติแบมสนิทกับคุณพ่อมาก พออยู่ในห้องประชุม พ่อแม่ก็คอยเตือนเรื่องการวางตัวบ้าง เรื่องคำพูดคำจาที่ใช้ความสนิท กลายเป็นว่า ตอนนี้เวลาอยู่ที่ทำงาน เราเรียกกันด้วยคำว่า คุณ นำหน้าชื่อจริง เพื่อแบ่งแยกบทบาทให้ชัดเจน ไม่เผลอลืมตัว”

ข้อดี-ข้อเสียของครอบครัวใหญ่

“แบมว่า ข้อดีคือการที่ต่างคนต่างโฟกัสหน้าที่ตัวเอง ทำให้เราโฟกัสงานของเราได้มากขึ้น งานของโชว์รูมอีซูซุมีเยอะมาก ต้องดูในหลายส่วนให้ได้คุณภาพ เราเลยรู้สึกว่า ดีแล้วที่เราได้โฟกัสในงานของเรา ถ้าต้องดูภาพรวมทั้งหมดคนเดียวก็ลังเลว่าจะไหวหรือเปล่า ส่วนข้อเสียคือ เวลาใครสักคนมีไอเดียอยากลองทำอะไร การตัดสินใจมันจะช้ามาก เราต้องนัดประชุมและขายไอเดีย มันลากการตัดสินใจให้ยาวขึ้นไปอีก ไม่ค่อยคล่องตัว แต่ก็รอบคอบดี และได้ตัดสินใจร่วมกัน รับผิดชอบร่วมกัน” 

กินข้าวกันทุกสัปดาห์ กระชับความสัมพันธ์ในครอบครัว

คุณแบมบอกว่า ตัวเองโชคดีมากที่เกิดมาในครอบครัวที่รักใคร่กลมเกลียวกัน ทุกคนมากินข้าวร่วมกันทุกวันอาทิตย์ และลูกๆ แบ่งเวรมากินข้าวร่วมกับอากงทุกวัน ทำให้มีโอกาสใช้เวลาร่วมกัน พูดคุยและปรับความเข้าใจกัน ลดช่องโหว่ในการเกิดความขัดแย้งภายในครอบครัว”

“แบมโชคดีมากที่เกิดในบ้านนี้ อากงอาม่ายังมีชีวิตอยู่ทั้งคู่ ทั้งสองท่านอายุ 97 ปีแล้ว อากงชอบกินข้าวเย็นมาก แต่ไม่ชอบกินคนเดียว อยากกินกับลูกหลาน ลูกแต่ละคนเลยแบ่งเวรกันมากินข้าวกับอากง อากงมีลูก 6 คน ก็ผลัดคิวมากัน 6 วัน และวันอาทิตย์ทุกคนมากินอาหารร่วมกัน ตอนนี้อากงอยู่บ้านแบม แปลว่า จะมีหนึ่งครอบครัวมากินข้าวบ้านแบมทุกวัน แม้ว่าตอนนี้อากงต้องใส่สายให้อาหารเพราะมีปัญหาในการกลืน แต่ทุกคนก็ยังมาหาอากงตามวันของตัวเองอยู่ ครอบครัวรักกันมากขนาดนี้ก็จริง แต่ด้านที่คิดไม่ตรงกันก็มี เราแต่ละคนก็หาทางออกในแบบที่จะกลมเกลียวกันมากที่สุด แบมว่า เพราะมีอากงคอยปลูกฝังให้รักกันมาตั้งแต่เด็ก ทุกคนพยามทำหน้าที่ตัวเองให้ดีที่สุด พอความสัมพันธ์ในครอบครัวดี การทำธุรกิจก็ราบรื่น”

เปรียบตัวเองเหมือน Isuzu Mu-X RS 

หากให้เปรียบตัวเองเป็นรถสักรุ่นของ Isuzu คุณแบมมองเห็นตัวเองเป็นเหมือน Isuzu Mu-X RS “แบมขอเลือกเป็น Mu-X รุ่น RS รุ่นใหม่เลย เพราะ Mu-X เป็นรถอเนกประสงค์ที่ดัดแปลงจากรถกระบะ มันเลยมีกำลังเยอะ พอมาดัดแปลงให้คนนั่ง ก็ทำให้บรรทุกคนได้เยอะ แบมอยากเป็นคันนี้เพราะมันอเนกประสงค์ มันดูใหม่ ทันสมัย ปรับให้เข้ากับคนแล้วดูมีความ Smart-casual มากขึ้น” 

บทเรียนจากการทำที่บ้าน

“อย่างแรกเลยคือทักษะการวางตัวในที่สาธารณะ ด้วยความที่แบมทำงานตั้งแต่อายุ 22 บางคนก็มองว่าเราเด็กไปหรือเปล่า บางคนนึกว่าเรา 30 กว่า เพราะเห็นหน้ากันมานานแล้ว แบมรู้สึกว่า เวลาเราทำงานอะไร เราควรมีภาพลักษณ์ที่อยากสื่อสารออกไปให้คนจำ การวางตัวให้เหมาะสม ถูกที่ถูกทาง จะทำให้คนเคารพเรามากขึ้น อย่างที่สอง คือการพูดคุยกับคนเยอะๆ ปรึกษานักธุรกิจด้วยกัน หรือการอ่านเพจทำที่บ้านก็ช่วยได้ เวลาเรารับคำแนะนำจากใคร ให้เราเชื่อซัก 50% ส่วนอีก 50% เรามาปรับใช้เอง สื่อสารกันเยอะๆ ทั้งคนข้างนอกและคนในบ้าน พอเราเข้าใจกัน มันลดความขัดแย้งไปได้มาก และสุดท้าย ทำงานที่บ้านต้องมีระเบียบวินัยในตัวเอง จะทำงานได้ราบรื่นขึ้นค่ะ”