“ระเบียบ จิวเวลรี่” ทายาทรุ่นสอง ของโรงงานเครื่องประดับเงินจิวเวลรี่ ผู้ค้นพบว่า ‘ทำที่บ้าน’ ต้อง ‘ฟังคนที่บ้าน’ ด้วย
หนึ่งในความท้าทายที่ทายาทหลายคนต้องเจอ คือการปะทะกันระหว่างแนวคิดในการทำงานแบบเดิมและแบบใหม่ บางคนเลือกที่จะยอมขัดแย้งกับครอบครัวเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในแบบที่ตัวเองต้องการ ขณะที่อีกหลายคนเลือกใช้ศิลปะในการประนีประนอมและค่อยๆ เข้าไปเปลี่ยนแปลงธุรกิจในครอบครัวแบบบัวไม่ช้ำน้ำไม่ขุ่น “ระเบียบ โพธิ์ชัย” แห่ง ‘ระเบียบจิวเวลรี่’ เลือกใช้วิธีลดแรงปะทะในครอบครัว พร้อมแบ่งปันเทคนิคการ ‘รับฟัง’ คนที่บ้าน เพื่อให้เรายังทำงานในแบบของเราได้ โดยไม่สูญเสียเป้าหมายของตนเองไป
ก่อนจะมา ‘ทำที่บ้าน’
ครอบครัวของคุณระเบียบประกอบธุรกิจด้านจิวเวลรี่ภายใต้ชื่อ “พัชรา แกลเลอรี่” และ “โพธิ์ชัย จิวเวลรี่” ที่มีประสบการณ์ในแวดวงนี้มาหลายสิบปี ก่อนหน้านี้ คุณพ่อคุณแม่เป็นช่างทำเครื่องเงินมาก่อน คุณแม่มีทักษะด้านการออกแบบและได้ไปเจอพาร์ทเนอร์มาชวนร่วมลงทุน จึงเกิดเป็นโรงงานเครื่องประดับ ส่งออกเครื่องเงินตั้งแต่นั้นมา
“ที่บ้านทำโรงงานมา 20 กว่าปี มีพนักงาน 700 กว่าคน เป็น Mass Production เลย ทำโรงงานส่งออก และเปิดหน้าร้านหลายที่ เช่น สีลม เจริญกรุง จตุจักร ตอนเด็กๆ จำได้ว่า แม่บังคับให้มาช่วยงานทุกปิดเทอม มานั่งหย่อน tag จิวเวลรี่ส่งออก ช่วยขายของหน้าร้าน ตอนนั้นก็มีเซ็งๆ บ้างที่ต้องมาช่วยงาน ไม่ได้เล่นกับเพื่อน แต่ในขณะเดียวกันเราก็เป็นเด็กชอบเก็บเงิน ช่วยงานก็จะได้เงินด้วย ก็คลุกคลีมาตั้งแต่เด็ก”
เหตุผลที่กลับมา ‘ทำที่บ้าน’
แม้คุณระเบียบจะคลุกคลีกับธุรกิจที่บ้านมาตั้งแต่เด็ก แต่ในช่วงเข้ามหาวิทยาลัย เธอมีความคิดที่จะเบนเข็มจากเจ้าของธุรกิจไปเป็นพนักงานเงินเดือนที่อาจจะดูมั่นคงกว่า แต่สุดท้ายก็อดเสียดายฝีมือช่างและทรัพยากรที่ครอบครัวของเธอมีอยู่ไม่ได้
“ช่วงเข้ามหา’ลัย ธุรกิจแม่เริ่มซบเซา พนักงานลาออก จากหลายร้อยเหลือสิบกว่าคน เหมือนกลับมาเริ่มต้นใหม่ ช่วง Covid ก็ได้รับผลกระทบเต็มๆ ยอดขายฝั่งส่งออกเป็นศูนย์ เรารู้สึกว่า ชีวิตธุรกิจมันไม่แน่นอน เลยคิดว่าจะเบนเข็มไปเป็นพนักงานเงินเดือนดีกว่า เราเลือกสอบเข้าคณะจิตวิทยา จุฬาฯ แต่พอจบมาจริงๆ ก็อดเสียดายไม่ได้ เพราะเราอยู่กับจิวเวลรี่มานาน อยู่กับพนักงานมานาน เราเสียดายฝีมือของพ่อแม่ เสียดายช่างฝีมือดีๆ อีกอย่างคือ เรามองเห็นว่า ที่บ้านมีทรัพยากรอยู่ ไม่ได้เริ่มจากศูนย์ ถ้าเรามาช่วย มันอาจพัฒนาไปได้อีกไกล เลยลองกลับมาช่วยฟื้นฟูดูสักตั้งหนึ่ง”
พัฒนาธุรกิจใหม่ที่อิงกับธุรกิจเดิม
“ตอนกลับมา ยังไม่ได้ไปยุ่งกับธุรกิจของแม่ตั้งแต่แรก เพราะรู้สึกว่าไม่ไหว คิดว่าความคิดเห็นของเราน่าจะขัดแย้งกับเขา เขามีภาพลักษณ์แบรนด์ มีโลโก้ มีฐานลูกค้าเดิมอยู่แล้ว เราไม่อยากให้กระทบ เลยสร้างแบรนด์ใหม่ขึ้นมา ชื่อ ‘ระเบียบจิวเวลรี่’ แล้วค่อยไปป้อนงานให้คุณแม่ช่วยผลิต เราทำการตลาด โฆษณาสินค้า แต่ใช้ทรัพยากรของที่บ้านหมดเลย”
ดึงดูดลูกค้าออนไลน์ผ่านคอนเทนต์และความเป็นมิตร
ก่อนจะมาลงสนามช่องทางออนไลน์ คุณระเบียบทำการบ้านมาไม่น้อย ผ่านการดูคลิปวิดีโอทั้งไทยและต่างชาติ สังเกตเนื้อหาและช่องทางในการนำเสนอ ช่วงที่หาข้อมูลอยู่นั้น คุณระเบียบได้ไปเจอช่องทาง TikTok ที่ตอบโจทย์การเริ่มทำธุรกิจออนไลน์ของเธอมาก เพราะไม่จำเป็นต้องอาศัยจำนวนผู้ติดตามเยอะ แต่อาศัยเนื้อหาที่น่าสนใจก็จะมีคนมาติดตามได้ง่าย เมื่อเธอเลือกใช้ TikTok เป็นช่องทางขายสินค้า คนจึงเริ่มรู้จักแบรนด์ ‘ระเบียบจิวเวลรี่’ มากขึ้น
“แนวคิดของเรา คือ ไม่ได้มองคนดูว่าเป็นลูกค้า เรามองเป็นเพื่อน เป็นพี่ ที่อยากจะสื่อสารไปในเชิงเล่าสู่กันฟัง ไม่อยากให้มันยัดเยียดการขายมากเกินไป เพราะเราก็ไม่ชอบแบบนั้น แค่อยากนำเสนอด้านที่มันว้าวในสายตาเรา เริ่มตั้งแต่การขึ้นพิมพ์ ปั้นจาก WAX ให้กลายเป็นแหวนหนึ่งวง เราเป็นคนแรกๆ ที่นำเสนอด้านงานช่าง ด้านการให้ความรู้ทางจิวเวลรี่
ช่วงแรกยังไม่ได้เล่าคอนเทนต์จิวเวลรี่แบบหนักๆ เพราะยังไม่มีคนฟัง ตอนนั้นเป็น Dancing Challenge เสียส่วนใหญ่ เราก็แบ่งทำ Challenge ตามกระแสบ้าง พอคนเริ่มติดตาม เราก็แทรกคอนเทนต์ของเราลงไปคั่น คนก็เริ่มติด เริ่มสนใจคอนเทนต์เราแล้ว ตอนนั้นที่บ้านก็รู้นะ แต่ไม่ก้าวก่าย ปล่อยให้เราทำเต็มที่ เขาช่วยสนับสนุนอยู่ห่างๆ เพราะต่างคนก็ต้องรับผิดชอบหน้าที่ตัวเอง”
จุดเปลี่ยนจาก COVID-19
“ระเบียบจิวเวลรี่เริ่มแมสมากขึ้นในช่วง Covid เพราะเล่นทั้งวัน ทำคอนเทนต์ทั้งวัน ทำอยู่สองสามเดือน จนมีคลิปที่เป็นไวรัลขึ้นมา กลายเป็นจุดเปลี่ยน คลิปนั้นคนดูประมาณ 700,000 คน พอตื่นเช้ามา ออร์เดอร์มาเพียบ นั่งตอบเช้าถึงเย็นเลย ที่บ้านตกใจ แต่ทุกคนก็มาช่วยผลิตอย่างเต็มกำลัง มาช่วยกันทำงาน พ่อแม่ดีใจ มีกำลังใจมากขึ้น”
ปัจจุบัน คุณระเบียบเน้นไปที่การพัฒนางานในมูลค่าที่สูงขึ้น ไม่เน้นจำนวน แต่เน้นคุณภาพและรายละเอียดพิเศษของงาน นอกจากธุรกิจออนไลน์จะเติบโตได้สม่ำเสมอแล้ว ธุรกิจส่งออกก็เริ่มกลับมาคึกคักมากขึ้นเช่นกัน มีลูกค้าเก่าแวะเวียนมาสั่งสินค้ากับคุณแม่มากขึ้น ตอนนี้เธอจึงทำควบคู่กันไปทั้ง online และ offline
รับฟังและเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ของรุ่นก่อน
ไม่ต่างจากทายาทหลายคน ในช่วงปรับตัวกับการ ‘ทำที่บ้าน’ คุณระเบียบเจอกับปัญหาความคิดเห็นที่แตกต่างกันของคนในครอบครัว รุ่นใหม่อยากเข้าไปพัฒนาเปลี่ยนแปลง รุ่นเก่าอยากรักษาสิ่งดั้งเดิมเอาไว้ จนถึงจุดหนึ่งที่คุณระเบียบมองว่า ถ้ามัวแต่ปะทะกัน สุดท้ายงานไม่อาจเดินหน้าต่อไปได้ เธอจึงเลือกปรับมุมมองของตัวเอง หาข้อดีจากการรับฟังประสบการณ์และบทเรียนของรุ่นก่อน เพื่อให้เธอไม่ต้องเสียเวลาเผชิญกับความท้าทายเหล่านั้นด้วยตนเอง
“เหมือนเราต้องมองเห็นว่า พ่อแม่มีชั่วโมงบินมากกว่า เราเอาส่วนนี้มาใช้พัฒนาต่อไปได้ ช่วงแรกที่เราหัวร้อนและไม่ฟังเค้า เพราะเราอยากเข้ามาเปลี่ยนแปลง เรามีอีโก้ที่จะมาช่วยเขา แต่เราต้องยอมรับว่า ถ้าเราไม่ฟังเขาที่ผ่านอะไรมาเยอะกว่าเรา เหมือนเราเสียผลประโยชน์นะ ทำไมเราจะไม่ฟังเขาล่ะ เพื่อที่เราจะไปต่อได้เลย ไม่ต้องล้มลุกคลุกคลานอย่างที่เขาเจอ เหมือนมองปลายทางมากกว่า ระหว่างทางก็โน้มน้าวกันไป”
“พอพ่อแม่สูงอายุขึ้น มันเหมือนไม่ใช่เรื่องธุรกิจอย่างเดียวที่เขามอง มันมีเรื่องตัวตนและอารมณ์ของเขามาเกี่ยวข้องด้วย ถ้าเราจะเอาวิธีใหม่เข้าไปปรับใช้เลย มันไม่ค่อยได้ผล เราใช้วิธีค่อยๆ คุยกับเขา เราต้องเคารพเขาก่อน ถึงจะทำต่อในแบบของเราได้ การจะไปต่อไม่จำเป็นต้องทิ้งทุกอย่าง เราสามารถปรับบางอย่าง หาคุณค่าของมัน แล้วต่อยอดจากตรงนั้นแทน”
‘ฟังให้เยอะ ชมให้มาก’ - เทคนิครับฟัง ‘คนที่บ้าน’
ทายาทหลายคนมีไอเดียใหม่ๆ ที่อยากนำเสนอ หรืออยากไปปรึกษาคนที่บ้าน แต่หลายครั้งก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่อีกฝ่ายจะเปิดใจรับฟังอย่างราบรื่น คุณระเบียบเองก็เจอกับความท้าทายนี้เช่นกัน แต่เธอเลือกใช้วิธี ‘ฟังให้เยอะ ชมให้มาก’ เป็นใบเบิกทางในการเข้าไปพูดคุยกับคนที่บ้าน
“ฟังและชมให้เยอะค่ะ
เราตั้งใจฟังเขาและหยิบประเด็นดีๆ
ที่เขาพูดมาชื่นชมเขาเยอะๆ
เช่น ระเบียบเห็นด้วยนะที่แม่ทำแบบนี้ ไม่เคยนึกถึงมุมนี้เลย แม่ประสบการณ์เยอะจริงๆ หรือเวลาที่เราเห็นปัญหา เราจะใช้เทคนิคว่า เราเจอปัญหาแบบนี้ เราจะไปต่ออย่างไรดี เข้าหาเขาด้วยท่าทีเชิงปรึกษา ไม่ได้ตำหนิ แม่ก็จะมาช่วย มาแนะนำ การชมเหมือนเป็นการเปิดใจเขาได้ เป็นโอกาสให้เราได้เสนอไอเดียที่จะไปต่อ”
บทเรียนที่ตกผลึกจากการ ‘ทำที่บ้าน’
เมื่อถามถึงสิ่งที่คุณระเบียบได้เรียนรู้ผ่านประสบการณ์ ‘ทำที่บ้าน’ มาหลายปี เธอบอกว่า มุมมองในการทำงานกับพ่อแม่ของเธอเปลี่ยนไป
“เราไม่ได้มองที่วิธีการทำงาน แต่เรามองไปที่เป้าหมายที่เราอยากได้ และดูว่า ระหว่างทางมันทำวิธีไหนได้บ้าง เพื่อไปให้ถึงเป้าหมายตรงนั้น แม้ว่าเราอาจต้องลดอีโก้ลงบ้าง ปรับตัวให้เข้ากับคนรุ่นเก่าบ้าง ฟังและชมเขามากขึ้น มันเป็นเรื่องระหว่างทางที่ช่วยให้เราไปถึงผลลัพธ์ที่ต้องการได้ เป็นเรื่องธรรมดาที่เราคงไม่สามารถเปลี่ยนทุกอย่างได้ในทันที แต่ค่อยๆ ปรับกันไป และเจอกันตรงกลางให้ได้มากที่สุด”