เจ้าของโรงแรม Tribe Pattaya ที่เข้าใจตัวเองและผู้อื่นมากขึ้นจากการกลับมาทำที่บ้าน
เด็กจบใหม่ที่ต้องรับภาระก้อนใหญ่ในการดูแลธุรกิจที่บ้าน ควรทำอย่างไรกับความท้าทายนี้? มาร่วมพูดคุยกับ คุณณิชา ศิรินันท์ ผู้ได้รับหน้าที่ในการบริหารโรงแรม Tribe Pattaya ที่มาแบ่งปันประสบการณ์การรับช่วงต่อธุรกิจของที่บ้านในวัยเพียง 22 ปี รวมถึงการจัดสรรเวลาระหว่างความรับผิดชอบกับความสนใจส่วนตัว เพื่อให้เธอยังคงทำที่บ้านต่อไปได้อย่างสมดุลทั้งกายและใจ
จุดเปลี่ยนที่ทำให้ต้องมารับหน้าที่ผู้บริหารโรงแรม
คุณณิชาเล่าว่า การมาทำงานตรงนี้เกิดจากความจำเป็นเฉพาะหน้าและความรับผิดชอบต่อครอบครัว หลังเธอเรียนจบจากคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คุณพ่อของเธอได้จากไปอย่างกะทันหัน จึงจำเป็นต้องมีคนรับผิดชอบธุรกิจโรงแรมที่คุณพ่อไปลงทุนร่วมกับเพื่อนไว้ โดยหลังเรียนจบได้เพียงสองเดือน คุณณิชาก็ต้องเข้ามารับช่วงต่อธุรกิจนี้มาเต็มตัว และรับหน้าที่บริหารงานโรงแรมเองทั้งหมด ถือเป็นการเริ่มต้นใหม่ในทุกมิติของเธอ
“ตอนนั้นเพิ่งเรียนจบ คุณพ่อก็เสียชีวิต เราเลยต้องเข้าไปรับช่วงต่อธุรกิจมาด้วยความจำเป็น ต้องไปเรียนรู้ใหม่ทั้งหมดเพราะไม่เคยทำธุรกิจมาก่อนเลย กลายเป็นโดนโยนโจทย์มาให้ทำแบบที่ไม่ได้เลือก เหมือนภาพมืดไปเลย ตอนนั้นคิดแค่ว่า ต้องแก้ปัญหาตรงหน้าก่อน ใช้หนี้ให้หมดก่อน ยังไม่ได้นึกว่าจะก้าวไปข้างหน้าอย่างไร เราตัดสินใจย้ายจากกรุงเทพฯ ไปอยู่พัทยา ทำงานแทบทุกแผนก เพราะพนักงานลาออกกันเยอะในช่วงเปลี่ยนผ่าน เราเลยต้องคอยสแตนด์บาย ช่วยทุกแผนก แต่ก็เหมือนได้รื้อระบบและหาพนักงานใหม่ ไม่มีใครมาฝึกเรา เราต้องโดดลงน้ำเลย”
แรงผลักดันให้สร้างระบบการทำงาน
การบริหารธุรกิจโรงแรมที่เปิดให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง ฝึกให้คุณณิชารู้จักแบ่งเวลาการทำงานให้สมดุลและหาวิธีสร้างระบบให้กับการทำงานเพื่อไม่ให้รู้สึกเหนื่อยเกินไปจนทำไม่ไหว และไม่เหลือเวลาไปใช้ชีวิตด้านอื่นๆ “ช่วงแรกเรายังไม่ได้วางกลยุทธ์อะไรเลย มันคือการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าตลอด 24 ชั่วโมง เราเหมือนหนูถีบจักร ทำไม่หยุดจนเริ่มเหนื่อยเกิน เริ่มคิดว่า แทนที่จะแก้ปัญหาหน้างาน เราควรถอยออกมามองภาพรวมบ้าง มันสอนให้เราฝึก Shut Down ตัวเองให้เป็นด้วย”
“ปกติเราไม่ชอบกรุงเทพฯ ขนาดนั้นนะ แต่ตอนนั้นอยากกลับกรุงเทพฯ มาก เพราะอยู่ตรงนั้นไม่มีสังคม ไม่มีเพื่อน มันเป็นแรงผลักดันให้เรามองว่า อะไรที่ทำให้เราต้องอยู่หน้างานตลอดบ้าง ทำอย่างไรให้ระบบทำงานได้โดยไม่มีเรา ค่อยๆ เห็นทีละจุด เราถึงเริ่มถอยออกมาได้ ทุกวันนี้โรงแรมดำเนินงานได้โดยที่เราไม่ต้องอยู่ประจำที่พัทยาแล้ว”
เชื่อใจในระบบและไว้ใจพนักงาน
“เราเชื่อว่า ทายาทหลายคนต้องอยู่หน้างาน เพราะพ่อแม่ยังอยู่ ยังเปลี่ยนระบบเถ้าแก่ไม่ได้ แต่ข้อดีของเราคือ เราเปลี่ยนระบบได้เลยว่าอยากให้เป็นแบบไหน ในบริบทเรา มันคือความเชื่อใจพนักงานด้วย เราวางระบบไว้ และไว้ใจให้พนักงานทำตามระบบ พอพนักงานเข้าใจเนื้องานมากขึ้น เราจะค่อยๆ ปล่อยได้ ทุกวันนี้ เรานัดประชุมกันสองอาทิตย์ครั้ง ถ้าเร่งด่วนก็ใช้ไลน์หรือโทรคุย ทำให้เรามีเวลาดูอย่างอื่น มีเวลาคิดวิธีพัฒนาธุรกิจเอง เราพยายามสอนคนในทีมให้คิดแบบเดียวกัน ให้มีเวลาหยุดทำ และถอยกลับมาคิด มาดูภาพใหญ่บ้าง ได้มองเห็นว่าจะไปทิศทางไหนต่อ”
จาก “ความจำเป็น” สู่ “ความอยากทำให้ดีกว่าเดิม”
ด้วยพื้นฐานส่วนตัว คุณณิชาเป็นคนชัดเจนและมีการวางแผนอย่างเป็นลำดับขั้นตอน แต่เมื่อได้รับโจทย์การบริหารโรงแรมมาแบบไม่ตั้งตัว เธอยอมรับว่า ช่วงแรกๆ เป็นความรู้สึกจำใจทำ เพราะความจำเป็น จนเมื่อได้มาคลุกคลีกับธุรกิจอย่างเต็มตัว เธอจึงเริ่มมองหาลู่ทางที่จะผสานความชอบและความเป็นตัวตนของตัวเองเข้าไป เพื่อทำให้ธุรกิจนี้มีความหมายกับเธอมากขึ้น
“เราเห็นตัวเองว่า เราอยากทำธุรกิจ แต่ตอนนั้นเราสนใจธุรกิจเพื่อสังคม เรื่องธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ยังไม่ได้สนใจงานด้านโรงแรมหรือร้านอาหาร แต่พอมันต้องทำจริงๆ เราก็เอาความสนใจด้านธุรกิจ กับความชอบเอาชนะของเรามาทำให้ภารกิจนี้มันสำเร็จ ความอยากเอาชนะของเรา คือการที่เราต้องปลดหนี้ให้ได้ ดังนั้น ต้องทำให้ธุรกิจมันเดินต่อไปได้ ตอนแรกมีคนมาขอซื้อต่อด้วย สามารถปิดหนี้ได้เลย แต่เราก็เลือกจะทำต่อ ตอนนี้ถ้ามีคนมาซื้อก็ไม่อยากขายแล้ว ตอนแรกมันทำเพื่อความจำเป็นก่อน สุดท้ายมันกลายเป็นความชอบขึ้นมา”
อย่าทิ้งความฝัน หาสิ่งที่ตัวเองชอบให้เจอ
คุณณิชาบริหารโรงแรมจนเริ่มอยู่ตัวมากขึ้น เป็นจังหวะที่น้องสาวของเธอเรียนจบมาช่วยงานพอดี จึงเป็นโอกาสที่ทำให้พี่น้องสนิทกันมากขึ้น ทั้งในแง่เรื่องส่วนตัวและเรื่องการทำงานที่เหมือนมองตาก็รู้ใจ ตัดสินใจแทนกันได้ นอกเหนือจากเรื่องบริหารงานแล้ว เรื่องภายในอย่างความชอบหรือความฝันส่วนตัว คุณณิชาก็ให้ความสำคัญไม่แพ้กัน
"เราคุยกับน้องเสมอว่า เรามีธุรกิจโรงแรมเป็นรายได้หลักก็จริง แต่ก็ไม่อยากให้ทิ้งความฝันของตัวเอง อยากให้มีเวลาไปค้นหาตัวเอง ไปเจอสิ่งที่ตัวเองอยากทำในชีวิต"
"เราทำงานหลายอย่าง จนวันที่เรารู้สึกว่าเราทำเยอะไปแล้ว เราเลยอยากกลับมาใส่ใจกับเรื่องพื้นฐานของชีวิต เราอยากตื่นมาออกกำลังกาย นั่งสมาธิ ทำอาหาร เขียนแพลนเนอร์ ให้เวลากับตัวเอง แต่มีช่วงหนึ่งที่ยุ่งมากจนวินัยพื้นฐานของชีวิตมันพังไป เลยกลับมาตั้งคำถามกับตัวเอง มาวางพื้นฐานตัวเองใหม่ทั้งกายใจ แล้วค่อยกลับมาสู้งานใหม่ในเวอร์ชันที่สมดุลกว่าเดิม”
“การออกไป Explore ตัวเอง ไม่ใช่แค่การไปหาสิ่งที่ชอบ เพราะบางทีเราก็รู้ตัวว่าชอบอะไร แค่ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรต่อ การลองทำหลายๆ อย่าง คือการไปหาประสบการณ์ข้างนอกด้วย เพราะเราว่าหลายคนที่ต้องมาทำที่บ้าน มี Pain Point คือไม่ได้ออกไปพัฒนาตัวเองข้างนอก มันมีเพดานภายในองค์กรของเราอยู่ ถ้าเราอยากพัฒนาตัวเอง เราต้องกระโดดออกไปทำ”
จุดสมดุลของ ‘ความรับผิดชอบ’ กับ ‘ความชอบส่วนตัว’
COVID-19 สร้างผลกระทบกับคนทั่วโลก โดยเฉพาะธุรกิจด้านโรงแรมและการบริการ คุณณิชาก็เผชิญกับวิกฤตนี้โดยตรงเช่นกัน โรงแรมจำเป็นต้องปิดให้บริการ เมื่อไม่มีลูกค้า ข้าวของเครื่องใช้ก็เสื่อมสภาพลง จึงเป็นโอกาสที่คุณณิชาจะปรับปรุงโรงแรมใหม่ และยังเป็นโอกาสให้เธอได้เห็นลู่ทางที่จะผสานสิ่งที่เธอชอบเข้ากับธุรกิจที่ทำ เกิดเป็นงานที่มีความหมายและสะท้อนตัวตนของเธอมากยิ่งขึ้น
“พอได้ปรับปรุงโรงแรมใหม่ เราเริ่มทำโซนล็อบบี้และห้องอาหารก่อน เราทำคาเฟ่ชื่อ Tribe ตามชื่อโรงแรม เราใส่ความเป็นตัวเองเข้าไป พอได้ทำเอง ได้ดีไซน์เอง ก็อินกับมันมากขึ้น เราเลือกเองทุกขั้นตอน ตั้งแต่อาหาร การแต่งร้าน เพลง กลิ่น ใส่สิ่งที่เราชอบเข้าไปในแบรนด์ เหมือนมีจิตวิญญาณของเราอยู่ในนั้น พอทำแล้วมันก็เวิร์กนะ ลูกค้าเยอะขึ้น มีรายได้เข้ามามากขึ้น เริ่มสนุก เริ่มมีไอเดียเพิ่ม”
“ตอนนี้เรากำลังรีโนเวทโซนดาดฟ้าโรงแรมให้เป็น Bar and Restaurant ชื่อ Silhouette เพราะชั้นบนได้รับแสงพระอาทิตย์ทั้งเช้าและเย็น เราจึงอยากเล่นกับความเป็นแสงเงาของธรรมชาติ เราใส่ความเป็นตัวเองเข้าให้มันสนุกขึ้น และเลือกแนวอาหารที่เราชอบเป็นอาหารเมดิเตอร์เรเนียนที่ใช้วัตถุดิบท้องถิ่นจากชุมชนชาวประมง และตั้งใจให้ที่นี่เป็น Community Space จัดกิจกรรมด้านต่างๆ ตั้งแต่ปาร์ตี้ไปจนถึง Wellness เช่น โยคะ หรือ Sound Healing เราเริ่มสนุกกับการเดินทางนี้ อยากให้ภาพในหัวเราเกิดขึ้นจริง มันเหมือนได้ทำงานและได้แบ่งเวลาไปทำสิ่งที่ชอบด้วย”
‘อาบป่า’ (Forest Bathing) กิจกรรมที่ช่วยเติมเต็มความชอบส่วนตัว
ด้วยความที่คุณณิชาชอบเดินทางใกล้ชิดธรรมชาติ ทำให้เธอมีโอกาสไปรู้จักกิจกรรม ‘อาบป่า’ ครั้งแรกที่จังหวัดกาญจนบุรี และพบว่าเป็นกิจกรรมที่ตอบโจทย์จิตวิญญาณภายในของเธอได้อย่างลึกซึ้ง ทำให้เธอเข้าใจตัวตนของตัวเอง เข้าใจงานที่ทำ และยังเผื่อแผ่มาเข้าใจผู้อื่นมากยิ่งขึ้น
“คำว่า อาบป่า เป็นคำที่แปลมาจากภาษาญี่ปุ่น คำว่า Shinrin Yoku คือการเอาตัวไปอยู่กับธรรมชาติ ในป่ามีสาร Phytoncide ทำให้ภูมิคุ้มกันร่างกายดีขึ้น การอาบป่า เป็นการเดินป่าในเส้นทางที่ไม่ลำบากจนเกินไป เน้นการพาคนเข้าไปหาธรรมชาติแบบผ่อนคลาย และเชื่อมต่อกับธรรมชาติ เราสนใจจริงจังถึงขั้นไปเรียน Certified Forest Therapy Guide จาก Association of Nature and Forest Therapy ของอเมริกา เราจัดกิจกรรมอาบป่ามาได้สามปีแล้ว ควบคู่ไปกับการบริหารโรงแรม”
“การอาบป่าทำให้เราเข้าใจตัวเองและคนอื่นมากขึ้น มันคือวิถีที่พาผู้คนให้ไปเข้าใกล้ธรรมชาติ ให้เห็นว่าเราคือส่วนหนึ่งของธรรมชาติ จริงๆ เป็นกิจกรรมที่ทำได้ทุกวัย แต่คนที่มาร่วมกิจกรรมกับเราส่วนใหญ่มักจะเป็นวัยทำงาน เป็นโอกาสให้เขาได้ถอยตัวเองจากบทบาทการทำงานมาเป็นตัวเองมากขึ้น ได้ยินเสียงข้างในตัวเองเยอะขึ้น ทำให้พวกเขาได้ค้นพบว่า บางครั้งคนเราแค่ต้องการผ่อนคลาย ได้เป็นตัวเอง และได้อยู่กับธรรมชาติอย่างสงบ พอเรามาทำงานกับคน เราเลยเข้าใจคนมากขึ้น เห็นมนุษย์เป็นมนุษย์มากขึ้น”
“รูปแบบกิจกรรมคือ เราพาคนไปในพื้นที่ธรรมชาติ อาจใช้เวลาครึ่งวัน หรือค้างหลายคืน จะจัดที่สวนในเมือง ในป่า ทั้งในประเทศและต่างประเทศ กระบวนการจะคล้ายกับการเดินป่า แต่เส้นทางไม่ยากลำบากเกินไป เพื่อให้รู้สึกผ่อนคลาย ไกด์จะค่อยๆ ชวนให้เราเปิดประสาทสัมผัสของร่างกาย เช่น ฟังเสียง ดมกลิ่น สัมผัสธรรมชาติ ทำให้มนุษย์รับรู้ธรรมชาติได้ละเอียดมากขึ้น รู้สึกใกล้ชิดกับธรรมชาติมากขึ้น เหมือนได้เติมเต็มอะไรบางอย่างในตัวเอง”
“Nature is the therapist, guide opens the door. นักบำบัดที่แท้จริงคือธรรมชาติ ไม่ใช่เรา ทุกครั้งที่เราไป เราจะบอกทุกคนว่า เราไม่ใช่วิทยากร ไม่ใช่ครู เราเหมือนเป็นเพื่อนเล่นกับทุกคน ร่วมทำกิจกรรมกับทุกคน ทุกครั้งที่เราไป เราก็ได้เชื่อมต่อกับธรรมชาติ ได้เยียวยาตัวเองด้วยเหมือนกัน หากสนใจกิจกรรมนี้ เพจ Foreststory.journal มีข้อมูลให้ลองเข้าไปอ่านกันได้ค่ะ”
บทเรียนที่ตกผลึก
“การที่เราได้ฟังตัวเอง เข้าใจตัวเอง แล้วเอาความเป็นตัวเราใส่เข้ามาใส่ในธุรกิจ ทำให้เรารักธุรกิจของเรามากขึ้น เราเห็นว่า เราเดินบนสองเส้นทาง คือ ทำธุรกิจของที่บ้านกับเรื่องที่ตัวเองสนใจไปด้วย ก่อนหน้านี้ มันดูเหมือนห่างกัน แต่ตอนนี้มันเข้าใกล้กันมากขึ้น แม้เส้นทางมันจะดูแตกต่างกันมาก สาย Commercial Business กับ สาย Nature Healing มันรวมกันได้อย่างไร เราน่าจะเป็นตัวอย่างให้เห็นว่ามันรวมเข้ากันได้นะ
อยากให้กำลังใจคนที่ทำที่บ้านแล้วยังอยากหาอะไรของตัวเองทำ ชีวิตมันไม่ได้จบแค่ทำที่บ้านอย่างเดียว พยายามจัดสรรเวลาให้พอดี อย่าทิ้งความฝันหรือสิ่งที่เราชอบไป ไม่แน่ว่า มันอาจจุดประกายให้เรากลับมาทำอะไรบางอย่างที่บ้านให้ดีขึ้นได้ด้วย”