“ลดอีโก้-เรียนรู้ให้เท่าพ่อ-ลงมือทำให้เท่าแม่” 3 เคล็ดลับก่อนปรับเปลี่ยนธุรกิจครอบครัว ของทายาท ‘ก๋วยเตี๋ยวหมี่ขิด’ แห่งอุดรธานี

“ลดอีโก้-เรียนรู้ให้เท่าพ่อ-ลงมือทำให้เท่าแม่” 3 เคล็ดลับก่อนปรับเปลี่ยนธุรกิจครอบครัว ของทายาท ‘ก๋วยเตี๋ยวหมี่ขิด’ แห่งอุดรธานี

ทำที่บ้าน

จากชายหนุ่มผู้ไม่เคยมีความคิดจะเปิดร้านก๋วยเตี๋ยว สู่การเป็นเจ้าของร้าน “ก๋วยเตี๋ยวหมี่ขิด” ร้านก๋วยเตี๋ยวชื่อดังของเมืองอุดรฯ “อะตอม - พสุธร แต้สุวรรณ” ทายาทรุ่นที่ 2 ของร้านก๋วยเตี๋ยวหมี่ขิด จะมาแบ่งปันประสบการณ์และวิธีการ ‘ทำที่บ้าน’ ที่ยอมวางอีโก้ของตนเอง เพื่อก้าวข้ามความขัดแย้งและทำความเข้าใจครอบครัวให้มากขึ้น พร้อมพิสูจน์ตนเองจนได้รับการยอมรับ และสามารถสานต่อธุรกิจให้ประสบความสำเร็จได้อย่างมั่นคง 

ก่อนจะมาเป็น “ก๋วยเตี๋ยวหมี่ขิด”

ก่อนจะมาเป็น “ก๋วยเตี๋ยวหมี่ขิด”  ร้านดังแห่งอุดรธานี ครอบครัวของคุณอะตอมเคยเปิดร้ายขายสินค้าพื้นเมืองประเภทผ้าหมี่ ผ้าขิด ผ้าไหมมาก่อน กิจการค่อนข้างมั่นคง แต่ก็ต้องมาถึงจุดเปลี่ยนเมื่อเจอวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง และเมื่อลูกค้ามีทางเลือกมากขึ้น ทำให้ยอดขายที่เคยขายดีกลับเงียบลงอย่างน่าใจหาย คุณพ่อคุณแม่จึงมาคุยกันว่าจะทำธุรกิจอะไรต่อดี โดยทั้งสองท่านเห็นว่า ควรเริ่มจากสิ่งใกล้ตัวที่เราคุ้นเคยก่อน จึงนึกถึงสูตรก๋วยเตี๋ยวของคุณยายทวดที่ทุกคนในบ้านติดใจความอร่อย จึงเลือกนำสิ่งนี้มาลองทำธุรกิจกันดู

“ก๋วยเตี๋ยวหมี่ขิด คือชื่อที่ตั้งมาเอง ไม่เคยมีนิยามที่ไหนมาก่อน ชื่อหมี่ขิดมาจาก ผ้าลายหมี่ขิด ตอนเราเปิดร้านก๋วยเตี๋ยวใหม่ๆ คุณพ่อตั้งชื่อว่า ก๋วยเตี๋ยวอนุสาวรีย์ เปิดเป็นซุ้มเล็กๆ อยู่ข้างร้านขายสินค้าพื้นเมืองของเรา ก๋วยเตี๋ยวชามละ 10 บาท มีลูกค้ามาเรื่อยๆ เพราะรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ที่บ้านเริ่มคิดว่า ถ้าเริ่มขายดีขึ้น จะทำอย่างไรให้ลูกค้าจำร้านเราได้ พอคุณย่ารู้ว่ากำลังคิดเรื่องชื่อร้านอยู่ คุณย่าเลยเสนอว่า ร้านก๋วยเตี๋ยวอยู่ข้างร้านหมี่ขิดที่คุณย่าตั้งให้ ทำไมเราไม่เอาชื่อหมี่ขิดมาใช้ล่ะ คุณพ่อก็เห็นด้วยกับคุณย่า ลูกๆ เลยคิดหาจุดเชื่อมระหว่างหมี่ขิดกับก๋วยเตี๋ยว ผมเลยไปศึกษากระบวนการทำหมี่ขิด พบว่ามันต้องใช้ทักษะ เวลา และความใส่ใจ เหมือนกับการทำก๋วยเตี๋ยวของคุณแม่ที่มีความพิถีพิถันในกระบวนการเพื่อให้ได้มาตรฐานที่สม่ำเสมอ เราเลยใช้ชื่อก๋วยเตี๋ยวหมี่ขิดตั้งแต่นั้นเรื่อยมา”

เหตุผลที่กลับมาทำที่บ้าน

หลังเรียนจบ คุณอะตอมทำงานประจำเป็นพนักงานในองค์กรเอกชนขนาดใหญ่ เป็นมนุษย์เงินเดือนอยู่ 3 ปี ก่อนจะหันมาสนใจการเป็นเจ้าของธุรกิจส่วนตัว เพราะเริ่มมองหาความมั่นคงในการสร้างครอบครัวและการมีอิสรภาพทางเวลา ประกอบกับน้องชายฝาแฝด ‘คุณเทอร์โบ’ ที่กลับมาช่วยที่บ้านตั้งแต่เรียนจบ ชวนให้คุณอะตอมมาช่วยทำธุรกิจที่บ้านร่วมกัน คุณอะตอมจึงตัดสินใจบอกลาชีวิตมนุษย์เงินเดือนและกลับบ้านมาขายก๋วยเตี๋ยวกับครอบครัว 

“ผมเคยเป็นเซลส์ขายวัสดุก่อสร้างมาก่อน มีโอกาสพูดคุยแลกเปลี่ยนมุมมองกับเจ้าของธุรกิจตามร้านต่างๆ ทำให้เราได้ซึมซับมุมมองความเป็นผู้ประกอบการ และกระตุ้นความเป็นคนทำธุรกิจที่เราเคยมีประสบการณ์สมัยเรียน สิ่งสำคัญที่เราเห็นคือ ร้านที่มีระบบแล้ว เขามีเวลาเป็นของตนเอง ทำให้ผมนึกถึงธุรกิจที่บ้านว่า อยากลองเอาแนวคิดนี้มาปรับใช้กับที่บ้านดู พอดีกับที่น้องชายฝาแฝดโทรมาบอกว่า อยากพัฒนาธุรกิจพ่อแม่ให้ไปไกลกว่านี้ เขาถามเราว่า จะทำงานต่อไหมหรือจะกลับมาทำที่บ้านเลย ตอนนั้นผมคิดว่า งานประจำผมก็มั่นคงดีอยู่แล้ว แต่คิดอีกที ผมก็อยากลองเอาความรู้ที่มีกลับไปลองทำที่บ้าน จึงตัดสินใจแจ้งลาออกล่วงหน้า 6 เดือน จากนั้นก็กลับมาทำที่บ้านเลย” 

“ตอนกลับมาใหม่ๆ ก็เคว้ง ผมรู้สึกเหมือนว่างงาน เพราะที่บ้านก็ไม่ได้ให้มีส่วนร่วม 100% เหมือนเราเป็นคนวิ่งซื้อของให้พ่อแม่เฉยๆ เป็นอย่างนั้นอยู่ 5-6 เดือน รู้สึกสบายมากเลยตอนนั้น มันว่างมาก และเรายังมีเงินก้อนเก็บไว้ด้วย แต่จุดเปลี่ยนหลังจากนั้นคือ เงินกำลังจะหมด เราเลยมานั่งประชุมกับน้องชายอีกรอบว่าเรามีเป้าหมายกันอย่างไร เขาอยากให้ก๋วยเตี๋ยวได้รับการยอมรับเหมือนราเมงญี่ปุ่น อยากให้คนไทยมองว่า อาหารไทยก็เป็นอย่างนั้นได้ ส่วนผมอยากทำร้านก๋วยเตี๋ยวให้มันเป็นระบบ คุยกันเสร็จเราก็มีไฟขึ้นมา อยากพิสูจน์ตัวเอง ไฟแรงทั้งคู่ จนกลายเป็นการจุดไฟเข้าสู่สมรภูมิรบกับที่บ้านเลย” 

การทำที่บ้านกลายเป็นสมรภูมิรบ

ด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจในแนวคิดของตัวเองอย่างแรงกล้า คุณอะตอมเริ่มต้นด้วยการเสนอแนวคิดเปลี่ยนภาพลักษณ์ภายนอกของร้าน ตั้งแต่ขยายพื้นที่ร้าน เปลี่ยนรูปแบบชุดพนักงาน นำระบบคิดเงิน POS มาลง แต่คุณพ่อไม่เห็นด้วยกับความคิดที่เสนอมา จึงเกิดการปะทะคารมกันบ่อยครั้ง นำไปสู่จุดเดือดถึงขั้นเกือบลงไม้ลงมือกัน

“อย่างแรก ผมเข้าไปเปลี่ยนชุดพนักงาน จะขยายพื้นที่เพิ่มขึ้น คือจะเปลี่ยนให้เป็นอีกรูปแบบหนึ่งให้ได้ จะให้แม่ถอยออกมา แล้วให้พนักงานทำแทน จะเอาระบบ POS มาลง พ่อบอกว่า พวกแกทำอะไรของแกวะ อยู่ๆ จะมาเปลี่ยน พ่อยังไม่รู้เลยว่า POS คืออะไร พ่อเลยปฏิเสธหมดทุกอย่าง จะเสียเงินเพิ่มทำไม จะเปลี่ยนทำไม พ่อไม่เอาเลย บอกให้ทำตามพ่ออย่างเดียว พวกผมรู้สึกว่า เขาไม่ไว้ใจเรา จุดประสงค์เราแค่อยากทำให้ร้านมันดีขึ้น ทำไมเขาถึงไม่ยอม” 

“พวกผมพยายามหลายรอบ ทั้งลองพูดคุย ทั้งลองแอบทำ พ่อมักบอกว่า ก๋วยเตี๋ยวนี่มันเลี้ยงเรามาได้ มันก็ดีอยู่แล้วนี่ เราทะเลาะกันหนักมากจนถึงขั้นที่น้องชายเคยจะต่อยกับพ่อเลย เราเคยยื่นคำขาดว่า ถ้าพ่อทำแบบนี้ พวกผมอยู่ไม่ได้ อย่างไรก็ต้องเปลี่ยน คำพูดที่พูดกันมันรุนแรงขึ้น จนคุณแม่มาพักยกให้ไปสงบสติอารมณ์กันก่อน แล้วค่อยกลับมานั่งคุยกันอีกรอบ”

ปีนบันไดเพื่อขึ้นไปอยู่จุดเดียวกัน

“พอใจเย็นลงกันแล้ว ผมก็มาคิดว่า ของที่เขาคิดว่าดีอยู่แล้ว มีคนจะมาเปลี่ยน ใครจะยอม ในเมื่อเขามีข้อพิสูจน์แล้วว่า มันเลี้ยงลูกเขามาได้ ดูแลครอบครัวได้ มันประสบความสำเร็จแล้ว ผมเลยคุยกับน้องชายว่า เราลองปีนจากข้างล่างแล้วค่อยๆ ขึ้นไปหาเขาดีกว่า เรารู้แค่นิดเดียวเอง จะไปเปลี่ยนเลยได้อย่างไร ผมสองคนตอนนั้นมองแค่เปลือกนอก ทำเปลือกให้ดูดี แต่จริงๆ แก่นยังไม่แข็งแรงเลย เราเลยจะเริ่มต้นใหม่ เราจะไปทำหน้าที่ทุกอย่างที่พ่อแม่อยากให้ทำ ทุกแผนกที่มีในร้าน สลับหน้าที่กันจนครบ พ่อก็ให้โอกาสลองดู”

“วันต่อมาเราต้องตื่นตั้งแต่ตีห้า มาดูว่าเขาเตรียมอะไรบ้าง รายละเอียดมันเยอะมาก การเลือกวัตถุดิบที่ดี แม่ต้องมานั่งคัดวัตถุดิบทุกอย่าง ถ้าไม่ดีก็ตีกลับร้านค้าเลย หมูแม่ก็หมักเอง เราต้องมาดูว่า คนจัดร้านต้องเตรียมอะไร คนล้างจานต้องเตรียมอะไร ค่อยๆ เรียนรู้ไป ผมช่วยที่บ้านอยู่แบบนั้นอยู่หนึ่งปีเต็มๆ ทำแบบเดิมและแบบเดียวกันกับเขาทั้งหมด จนลูกค้าพูดว่า ผมเหมือนพ่อเลย เรารับพนักงานหน้าร้านน้อยมาก เพราะพ่อและลูกๆ ช่วยกันไวมาก” 

ความไว้ใจที่มาจากการพิสูจน์ตัวเอง

หลังจากได้ลองปีนบันไดเพื่อขึ้นไปมองในมุมของคุณพ่อคุณแม่ คุณอะตอมจึงได้เห็นความเก่ง ความอดทน และความไม่ย่อท้อของคุณพ่อคุณแม่ที่เริ่มมาจากการที่ร้านยังมีลูกค้าไม่เยอะ จนมาถึงวันที่มีลูกค้าอย่างต่อเนื่อง ทำให้เขาเข้าใจเหตุผลของพ่อในวันนั้นที่ไม่ยอมให้เขาและน้องชายเข้ามาเปลี่ยนอะไรอย่างง่ายดายโดยที่ยังไม่มีความเข้าใจร้านอย่างแท้จริง เพราะไม่อยากเสี่ยงให้ทุกอย่างที่พ่อกับแม่สร้างมากับมือพังลงไปในวันที่อายุมากเกินกว่าจะเริ่มต้นใหม่ แต่หลังจากได้ฝึกวิชาและเรียนรู้งานกับที่บ้านจนเข้าใจทุกอย่างแล้ว การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นหลังจากนั้นราบรื่นและง่ายดายจนเขาเองแปลกใจ 

“หลังจากเราปีนบันไดมาได้หนึ่งปีจนได้มายืนข้างพ่อแล้ว ผมก็ลองคุยกับพ่อว่า ผมทำได้หมดแล้วนะ ทำเก่งแล้วด้วย ผมเห็นพ่อเหนื่อยที่ต้องวิ่งคิดเงิน เราลองเอาระบบ POS มาช่วยไหม และตอนนั้นเรามีปัญหาอย่างหนึ่งคือในครัวช้า ปกติเราให้ลูกค้าเขียนออร์เดอร์มา แล้วส่งออร์เดอร์เข้าครัว ครัวจะต้องอ่านลายมือลูกค้าก่อนแล้วค่อยทำ มันช้ามาก ผมค่อยๆ อธิบายให้พ่อฟังว่า ระบบ POS ช่วยเปลี่ยนเรื่องการคิดเงินให้ถูกต้องขึ้น เปลี่ยนเรื่องการใส่ชื่อเมนูให้ครัวอ่านง่าย เป็นระบบ พ่อบอก เอาสิ ลองดู” 

“ผมคิดว่า ที่มันง่ายขนาดนี้ เป็นเพราะเราพิสูจน์ให้เขาเห็นแล้วว่าผมทำแทนเขาได้ทุกแผนก ต่อให้ลองแล้วเจ๊ง ผมก็ทำแบบเดิมเหมือนที่พ่อทำได้ อีกเรื่องที่ขอเปลี่ยน คือย้ายครัวจากหน้าร้านไปอยู่ข้างหลัง เพราะเราไม่อยากให้ลูกค้ายึดติดกับตัวคนทำ ไม่อยากให้จำว่า ก๋วยเตี๋ยวหมี่ขิดต้องเป็นแม่ทำเท่านั้น ที่บ้านก็ยอม พอทุกอย่างเริ่มเป็นระบบมากขึ้น งานก็เร็วขึ้น เหนื่อยน้อยลง ลูกค้าประทับใจที่เรามีระบบ พ่อโดนชมเยอะ เขาก็ภูมิใจ บอกว่า ลูกชายเอาระบบมาลงให้ ทำงานง่ายขึ้นเยอะเลย”  

จากความไว้ใจนำไปสู่การยอมรับการเปลี่ยนแปลง

หลังจากร้านแรกเริ่มเป็นระบบมากขึ้น คุณอะตอมและน้องชายเริ่มหาทางขยับขยายมาเปิดสาขาที่ 2 ซึ่งในรอบนี้ พวกเขาทั้งคู่ตั้งใจอยากเปลี่ยนภาพลักษณ์ก๋วยเตี๋ยวหมี่ขิดให้มีเอกลักษณ์ดึงดูดลูกค้าโดยการใส่สถาปัตยกรรมและความเป็นศิลปะเข้าไป ขยายร้านให้ใหญ่ขึ้นเป็นเท่าตัว แน่นอนว่า ระหว่างทางย่อมผ่านการหาข้อมูล พูดคุย ผ่านอุปสรรคหลายด่าน กว่าจะลงตัวอย่างทุกวันนี้ 

“มองย้อนกลับไป ตอนนั้นผมกับน้องชายคิดใหญ่เกินไป เราอยากสร้างร้านให้อลังการ จ้างสถาปนิกมาออกแบบให้มีแนวคิด มีความเป็นศิลปะ มีความอาร์ต ด่านแรกเลยคือ งบประมาณและระยะเวลาในการสร้าง พ่อก็เริ่มไม่เห็นด้วยแล้ว แต่เราอธิบายว่าเราอยากเห็นร้านเติบโตไปในทิศทางไหน ด้วยความไว้ใจจากสาขาแรก พ่อจึงยอมให้ทำ”

“แม้ว่าผมจะหาข้อมูลมาเยอะมาก แจกแจงข้อมูลความเสี่ยงทุกอย่างให้พ่อฟัง แต่เราก็ยังหลงลืมค่าใช้จ่ายในบางส่วน เช่น ค่าออกแบบตกแต่งภายใน ค่าเฟอร์นิเจอร์ อุปกรณ์ครัว ผลสุดท้ายคือเกินงบ จากที่พ่อไว้ใจ มันก็ถอยหลังลง แต่สุดท้ายมีสิ่งหนึ่งที่เรามองไปในทางเดียวกัน คือร้านมันต้องเปิดให้ได้ เพราะมันมาขนาดนี้แล้ว สุดท้าย พ่อก็ยอมให้เพิ่มงบอีก ก็ต้องขอบคุณพ่อที่ให้โอกาสเราไปต่อ” 

“สิ่งที่ผมได้เรียนรู้คือ เราต้องทำให้เขาไว้ใจเราเกินร้อยก่อนด้วยการพิสูจน์ให้เขาเห็น ต่อให้ความไว้ใจมันลดลง มันก็จะยังพอเหลืออยู่ ตอนเปิดสาขา 2 มันประสบความสำเร็จมากๆ และต่อยอดให้เราหลายอย่างมาก เราได้รับความไว้ใจกลับมาอีกครั้ง จนถึงจุดเปลี่ยนคือ ผมเปิดบริษัท หมี่ขิด นูดเดิล เรสเทอรองต์ เพราะอยากจัดแจงหุ้นส่วนและค่าใช้จ่ายให้เป็นระบบ วันหนึ่งพ่อมาบอกว่า บริษัทนี้เป็นของลูกสามคนเลยนะ พ่อจะเป็นคนรับเงินเดือน แต่การบริหารจัดการยกให้เราทั้งหมด พอเขาไว้ใจเราแล้ว ทุกอย่างมันง่ายหมดเลย เพราะเขาไม่ตั้งคำถาม ไม่สงสัยในตัวเราอีกแล้ว แถมยังเริ่มมีแนวคิดคล้อยตามเราด้วย จากที่เคยคิดว่าเถ้าแก่ต้องลงแรงจนตาย แต่ตอนนี้คิดว่า เราใช้คนให้เป็นระบบได้นี่นา”  

หล่อเลี้ยงเป้าหมายในใจให้ชัดเจนอยู่เสมอ

“ผมเขียนเป้าหมายลงในกระดาษแปะไว้ข้างเตียง ‘เราจะมาเปลี่ยนหมี่ขิดให้มันยิ่งใหญ่กว่านี้กัน’ ก่อนนอนทุกวันเราก็จะเห็นประโยคนี้ ตอนที่เราไปช่วยพ่ออยู่หนึ่งปีนั้น ผมมีภาวะชินชา รู้สึกจำยอมอยู่บ้างเหมือนกัน แต่มันมีคำหนึ่งที่ชัดมาก คือคำว่า ‘เหนื่อย’ ทำให้เราอยากไปให้ถึงเป้าหมาย มันเหนื่อยทุกวัน คำนี้แหละที่คอยผลักดันให้ผมยังอยู่กับเป้าหมายที่ตั้งอยู่”

บทเรียนที่ได้จากการ ‘ทำที่บ้าน’ 

“ธุรกิจที่บ้านเหมือนเหรียญสองด้าน ด้านหนึ่งเป็นด้านที่เราคิด อีกด้านเป็นด้านที่พ่อแม่คิด แต่สุดท้ายมันอยู่ในเหรียญเดียวกัน ดังนั้น เราต้องเห็นภาพก่อนว่า ฝั่งหัวมีอะไรบ้าง แล้วฝั่งก้อยมีอะไรบ้าง การจะทำที่บ้านให้ได้ ต้องเข้าใจตัวเราเองก่อน แต่อย่าลืมเข้าใจมุมของพ่อแม่เหมือนกัน ถ้าเราเข้าไปทำแบบมองแค่อีโก้เราอย่างเดียว มุมเราอย่างเดียว มันไปต่อไม่ได้ เพราะเราไม่เข้าใจมุมมองของเขาเลย สุดท้ายการที่ผมมาถึงจุดนี้ได้ ผมว่าผมต้องเข้าใจมุมเขาก่อน แล้วปีนขึ้นไปหาเค้าแทน เพราะถ้าเราอยากจะเก็บเหรียญนี้ไว้ เราจำเป็นต้องเห็นทั้งสองมุม”