กงสีปรับตัวอย่างไรให้ได้ไปต่อ

กงสีปรับตัวอย่างไรให้ได้ไปต่อ

Noppasit Piphitpattanaprapt


หากที่บ้านใครยังใช้ระบบกงสี หรือหากคุณมีโอกาสได้ดูซีรีส์เรื่อง เลือดข้นคนจาง ก็คงเข้าใจปัญหาของระบบที่เรียกว่า ‘กงสี’ ได้เป็นอย่างดี เพราะเรื่องราวของตระกูลจิระอนันต์ในซีรีส์เรื่องนี้ คือการนำเสนอปัญหาของระบบกงสี และสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตจริงของธุรกิจครอบครัวไทยเชื้อสายจีนได้อย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นคนทำไม่ได้ คนได้ไม่ทำ, กงสีให้แต่ผู้ชาย, ให้แต่ลูกชายคนโต, ปัญหาการจัดการเงินกงสี หรือความขัดแย้งในครอบครัว

เป็นเรื่องน่าเศร้าที่ในชีวิตจริงนั้น เราก็มักจะเห็นหลายครอบครัวที่ต่างรักใคร่กลมเกลียว พี่น้องที่เติบโตมาด้วยกัน ต้องมามีความขัดแย้งจากการแบ่งผลประโยชน์ที่ไม่ลงตัวเหมือนในละคร เพราะถ้าให้ผมนิยามปัญหาของระบบกงสีให้เห็นภาพชัดที่สุด ก็คงจะเป็นคนทำ คนไม่ทำได้เท่ากัน หรือเลวร้ายกว่านั้นคือ คนทำไม่ได้ คนได้ไม่ทำ

จุดแข็งของกงสี คือ ความเป็นครอบครัว  
แต่จุดอ่อนของกงสี ก็คือ ความเป็นครอบครัวเช่นกัน

จุดแข็งของกงสีคือครอบครัว

จุดอ่อนก็คือครอบครัวเช่นเดียวกัน

ระบบกงสีเริ่มมาจากช่วงก่อตั้งธุรกิจของครอบครัวเชื้อสายจีน เมื่อประมาณ 40-50 ปีก่อน ซึ่งเวลานั้นจำเป็นและต้องการแรงงานเข้ามาช่วย ก็เลยมักจะดึงคนในครอบครัวมาเป็นแรงงานในธุรกิจ ซึ่งแน่นอนการที่คนในครอบครัวมาช่วยกันย่อมเข้มแข็งและส่งผลให้ผลลัพธ์ออกมาดีมาก ๆ เพราะทุกคนรู้สึกเหมือนเป็นเจ้าของ ทำงานกันอย่างเต็มที่เพื่อครอบครัว เปรียบไปแล้วก็เป็นช่วงที่ไม่ต่างอะไรกับการฮันนีมูนของคู่รัก ที่อะไร ๆ มักจะดีไปเสียหมด

แต่กงสีมักเป็นเพียงสัญญาใจระหว่างผู้ก่อตั้งกับสมาชิกภายในครอบครัวเพียงเท่านั้น และกงสีมักมีปัญหาก็เพราะไม่ได้มองถึงระยะยาว ด้วยความที่คาดหวังว่าให้ธุรกิจสามารถก่อตั้งได้อย่างแข็งแร็งก่อน จึงทำให้การเตรียมการถึงอนาคตไม่ดีนัก เมื่อธุรกิจอยู่ตัวและไปได้ดี ครอบครัวเริ่มมีสมาชิกมากขึ้น ความเป็นครอบครัว ก็จะย้อนศรกลับมากลายเป็นจุดอ่อนเสียเอง

ปัญหาในลักษณะกลืนไม่เข้าคายไม่ออก ปัญหาพูดอะไรไม่ได้ และปัญหาที่เมื่อมีใครเริ่มพูดอะไรออกมา จะกลายเป็นคนที่เห็นแก่ได้ในทันที ก็จะเกิดขึ้น

ปัจจุบันธุรกิจที่จัดการในรูปแบบกงสียังมีอยู่ค่อนข้างมากในสังคมไทย แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ยังไม่มีการเปลี่ยนผ่านรุ่นเท่าไร และจากที่ผมสังเกตก็คิดว่ามาจาก 2 เหตุผล

1. ผู้ใหญ่ที่เป็นคนดูแลยังไม่วางมือ   
 2. ทายาท ไม่อยากกลับมาสืบทอด

แม้เหตุผลทั้งสองข้อจะดูเป็นคนละเรื่องกัน แต่ท้ายที่สุดก็เป็นเหตุผลที่ต่างคัดง้างกันอยู่

ผู้ใหญ่ยังวางมือไม่ได้ เพราะทายาทไม่ยอมกลับมาสานต่อ ส่วนเหตุผลที่ทายาทไม่กลับมาสานต่อก็อาจเป็นเพราะเห็นภาพของธุรกิจกงสีในสายตาของคนในรุ่นหลัง ๆ มักมีภาพที่ไม่ดีสักเท่าไร

กงสีกลายเป็นระบบที่ล้าหลังในสายตาของทายาท ส่วนหนึ่งก็อาจเป็นเพราะพวกเค้าได้รับรู้เรื่องราวจากครอบครัวของเค้าเองก็ได้

และนี่คือภาพจำของกงสีที่คนรุ่นหลังมองจากการพูดคุยกับทายาทหลายคนที่ธุรกิจครอบครัวยังคงใช้ระบบกงสี

กงสี คือ คนทำแทบตายได้เท่ากับคนไม่ทำ
 กงสี คือ ธุรกิจของตั่วซุง (ลูกชายคนโต)  
 กงสี คือ การทำแทบตาย สุดท้ายก็ไปลุ้นที่พินัยกรรม
 กงสี คือ ระบบที่ขึ้นกับสายเลือด ไม่ใช่ผลงาน

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ‘ผลประโยชน์’ เป็นเรื่องที่สำคัญมาก คงไม่มีใครบนโลกที่ทำงานแล้วไม่ต้องการผลตอบแทน แต่ธุรกิจแบบกงสีมักมีปัญหาในเรื่องนี้ เช่น การจัดการมรดก การแบ่งรายได้ให้กับสมาชิกที่ทำงานและไม่ทำงานในธุรกิจ ดังนั้นหากธุรกิจครอบครัวแบบกงสียังไม่สามารถจัดการเรื่องนี้ได้ชัดเจน ย่อมส่งผลต่อความตั้งใจของลูกหลานที่อยากกลับมาสานต่อ ซึ่งมันหมายถึงว่าเรากำลังผลักคนในครอบครัวออกจากธุรกิจไป


ปัญหาที่กล่าวมาทั้งหมดล้วนแล้วเป็นปัญหาที่เราสามารถป้องกันไม่ให้เกิดได้ เพียงแต่จำเป็นที่จะต้องเริ่มเสียตั้งแต่ตอนนี้

การที่ธุรกิจครอบครัวแบบกงสีจะเติบโตและสานต่อกิจการให้คนรุ่นหลังได้สำเร็จ จำเป็นต้องวางแผนเรื่องนี้เอาไว้ตั้งแต่ต้น ซึ่งตัวอย่างที่เราเห็นภาพได้ชัดเจนที่สุดก็คงเป็นตระกูลจิราธิวัฒน์ ที่ทุกวันนี้ก็ยังคงใช้ระบบกงสีในการจัดการทรัพย์สินของครอบครัว แต่เป็นกงสีที่ปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัยอย่างเป็นระบบด้วยสิ่งที่เรียกว่าธรรมนูญครอบครัว ที่เป็นเหมือนกฎขว่าสามารถทำหรือห้ามทำอะไรบ้างหากยังเป็นสมาชิกของครอบครัวและยังต้องการสวัสดิการของตระกูลอยู่

ธุรกิจที่ยังปกครองในรูปแบบกงสีจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องหาจุดกึ่งกลางระหว่างรุ่นให้เจอให้ได้ และสิ่งเหล่านี้คือบทเรียนที่ผมไปถอดมาจากธุรกิจครอบครัว ซึ่งสามารถก้าวข้ามคำว่ากงสีไปสู่คำว่า ‘มืออาชีพ’ ได้สำเร็จ

  1. ผลตอบแทนต้องชัดเจน

ปัญหาอย่างซีรีส์ เลือดข้นคนจาง ไม่ว่าจะเป็นการให้พี่ชายคนโตเป็นหัวหน้าครอบครัว การไม่แบ่งหุ้นให้กับลูกสาว การที่คนไม่ทำงานมาใช้เงินของกงสีอย่างสุรุ่ยสุร่าย ทั้งหมดที่กล่าวมาคือความไม่ชัดเจนของการจัดการปัญหานี้ จนเกิดความขัดแย้งทำให้คนในครอบครัวไม่สามารถทำงานร่วมกันได้อีก

ดังนั้นเพื่อให้เราสามารถใช้ความเป็นครอบครัว ซึ่งเป็นจุดแข็งของกงสี โดยไม่ให้เรื่องนี้กลายเป็นจุดอ่อน เราต้องอย่าปล่อยให้คนในครอบครัวรู้สึกถึงความไม่ยุติธรรม จนเค้าต้องออกมาเรียกร้องและถูกตราหน้าจากคนในครอบครัวว่าเป็นคนเห็นแก่ได้

แต่หารู้ไม่ว่าการที่คนในครอบครัวออกมาเรียกร้องเรื่องผลประโยชน์ที่ไม่ชัด หรือความรู้สึกไม่ได้รับความเป็นธรรม ไม่ใช่เรื่องของความเห็นแก่ได้ หากเหตุผลของเค้ามีน้ำหนักมากพอ การบอกว่าเค้าเป็นคนเห็นแก่ได้ต่างหากที่ดูเป็นเรื่องที่ผิดปกติ

ธุรกิจครอบครัวจำเป็นต้องมีความชัดเจนและยุติธรรมในเรื่องของ ‘หุ้น’ และ ‘รายได้’ เพราะปัญหาของกงสีเกิดจากความไม่ชัดเจนในการแบ่ง และไม่จัดสรรในส่วนนี้นั่นเอง

ในขณะที่ธุรกิจอื่นๆ มีการแบ่งตำแหน่งของสมาชิกธุรกิจหลักๆ เป็น 2 รูปแบบ คือ ผู้ถือหุ้นและคนทำงาน แต่กงสีไม่ค่อยระบุในส่วนนี้และจัดสรรทุกอย่างตามความรู้สึกของผู้ก่อตั้ง เพื่อแก้ปัญหาของกงสี ผมจึงคิดว่าเราจำเป็นที่จะต้องระบุในส่วนนี้ เพราะ ‘ผู้ถือหุ้น’ ไม่เท่ากับ ‘คนทำงาน’

เมื่อทั้งสองตำแหน่งไม่เหมือนกัน ผลตอบแทนที่ได้ย่อมแตกต่างกัน

ผลตอบแทนของธุรกิจครอบครัวมีเพียงเงินเดือน เงินปันผล และเงินโบนัส และผู้ที่มีสิทธิได้รับก็ย่อมแตกต่างกัน

ผู้ถือหุ้นย่อมไม่มีสิทธิได้รับเงินเดือนและเงินโบนัส
คนทำงานย่อมไม่มีสิทธิได้รับเงินปันผล

ผู้ถือหุ้นย่อมไม่มีสิทธิได้รับเงินเดือนและเงินโบนัส
คนทำงานย่อมไม่มีสิทธิได้รับเงินปันผล

การกำหนดเรื่องนี้ให้ชัดเจน ไม่เพียงแต่แก้ปัญหาเรื่องผลตอบแทนของธุรกิจได้ แต่ยังเป็นการขีดเส้นอำนาจในการทำงานอีกด้วย เพราะถ้ากำหนดเรื่องนี้ไม่ชัดก็อาจทำให้เกิดการก้าวก่ายอำนาจในการทำงานและการตัดสินใจ เช่น ผู้ถือหุ้นย่อมไม่มีอำนาจในการตัดสินใจภายใน คนทำงานก็ย่อมไม่มีสิทธิตัดสินใจในการลงทุนของธุรกิจเช่นกัน

  1. เงินเดือนต้องเหมาะสมกับความสามารถ

หากไม่ใช่คนในครอบครัว คุณจะจ้างคนมาทำงานในตำแหน่งนี้ด้วยเงินเดือนเท่าไร? เป็นคำถามที่เราต้องตอบให้ได้หากจะรับใครเข้ามาทำงาน

แต่กับธุรกิจครอบครัวส่วนใหญ่แล้ว สิ่งที่ผู้ใหญ่ทำมักไม่ได้เริ่มต้นจากคำถามดังกล่าว แต่มักเริ่มต้นจาก ‘ความพยายามจะยุติธรรม’ ไม่ใช่ ‘ความรับผิดชอบ’ หรือ ‘ความสามารถ’

เพื่อให้ลูกหลานรู้สึกว่าตนไม่ได้รักหรือเข้าข้างลูกหลานคนไหนมากกว่ากัน ก็เลยให้เงินเดือนหรือผลตอบแทนแต่ละคนเท่าๆ กัน โดยไม่ได้คำนึงถึงตำแหน่ง ความสามารถ หรือความรับผิดชอบในงานที่ได้รับ

แม้เจตนาที่อยากให้ลูกหลานรู้สึกถึงความยุติธรรมจะฟังดูดี แต่ในทางปฏิบัติ ไม่มีทางที่ลูกหลานจะรับรู้ถึงเจตนานี้ เพราะพวกเขาจะมองว่าการกระทำแบบนี้ไม่ยุติธรรม และนอกจากจะไม่ยุติธรรมแล้ว ยังเป็นการดูถูกความสามารถของลูกหลานอีกด้วย

ต่อให้เป็นลูกเป็นหลาน แต่ความสามารถในการทำธุรกิจของมนุษย์ก็ควรสะท้อนออกมาในรูปแบบของรายได้ ดังนั้นสิ่งที่ต้องเริ่มคือการตอบคำถามข้างต้นให้ได้ว่า ถ้าไม่ใช่คนในครอบครัว คุณจะจ้างคนมาทำงานในตำแหน่งนี้ด้วยเงินเดือนเท่าไร?

  1. ‘เงินธุรกิจ’ ไม่เท่ากับ ‘เงินครอบครัว’

กงสีมักเข้าใจผิดว่า เงินที่หมุนเวียนหรือเงินของธุรกิจครอบครัว ก็คือเงินของครอบครัว (เงินกงสี) เพราะมันคือเงินที่เราทำงาน เงินที่เราเอาไปลงทุน มันก็ควรจะเป็นเงินของเรา

ใครในครอบครัวอยากซื้อรถ ก็มาเบิกเงินจากธุรกิจ  
ใครในครอบครัวอยากซื้อบ้าน ก็มาเบิกเงินจากธุรกิจ  
ใครอยากแต่งงาน ใครอยากจ่ายค่าเทอมลูก ก็มาเบิกเงินจากธุรกิจ

หรืออยากหยิบใช้จ่ายอะไรก็หยิบจากเงินในลิ้นชักไปใช้

แต่รู้ไหมว่าเงินจากธุรกิจไม่ใช่เงินของครอบครัว มันคือกระแสเงินสด (Cash flow) ของธุรกิจที่นำไว้ใช้สำหรับดำเนินธุรกิจ ดังนั้นการนำเงินเหล่านี้ออกไปใช้ในครอบครัวจะส่งผลให้คุณไม่สามารถเห็นภาพรวมของธุรกิจได้เลย ไม่สามารถมองเห็นได้ว่ากำไรของธุรกิจคือเท่าไร รายจ่ายของธุรกิจเป็นอย่างไร รายจ่ายของครอบครัวมากน้อยแค่ไหน กระแสเงินสดของธุรกิจเป็นอย่างไร

เพราะในความเป็นจริงของการทำธุรกิจนั้น เงินธุรกิจไม่เท่ากับเงินในครอบครัว และยิ่งไม่เท่ากับเงินกงสี

หากกงสีไม่สามารถแยกสิ่งเหล่านี้ออกมาได้

นั่นหมายถึงความเสี่ยงต่อตัวธุรกิจและย่อมหมายถึงความเสี่ยงของครอบครัว

หากกงสีไม่สามารถแยกสิ่งเหล่านี้ออกมาได้ นั่นหมายถึงความสุ่มเสี่ยงต่อตัวธุรกิจ และก็ย่อมหมายถึงความเสี่ยงของครอบครัวเช่นกัน

กระแสเงินสดคือสิ่งที่สำคัญมากสำหรับการดำเนินธุรกิจเพราะหากเปรียบธุรกิจคือร่างกาย กระแสเงินสดก็คงไม่ต่างอะไรกับเลือด ที่หล่อเลี้ยงร่างกายและอวัยวะของเราอยู่ หากวันใดก็ตามที่เลือดเราไหลออกจนหมดตัว ธุรกิจก็คงจะไม่สามารถมีชีวิตอยู่ต่อได้