
ทายาทรุ่น 3 'ไส้กรอกคุณวี' กับการสานต่อความรักของคุณยาย ด้วยรสชาติออริจินัล ในพื้นที่ใหม่ที่เข้าถึงง่ายกว่าเดิม
ย้อนกลับไปเมื่อเกือบ 70 ปีที่แล้ว เชื่อว่า ‘ไส้กรอก’ ไม่ใช่อาหารหาทานง่ายอย่างทุกวันนี้แน่นอน จึงเป็นเหตุให้คุณทวีศรี คุณยายของ “คุณหวาน - ภรณี จงสงวน บุรมิ” คิดสูตรทำไส้กรอกในแบบฉบับของตนเองออกขาย จนมีลูกค้าประจำติดใจและอุดหนุนกันจวบจนทุกวันนี้ รสชาติและคุณภาพอันเป็นเอกลักษณ์ เป็นเหมือนมรดกตกทอดที่คุณหวานตั้งใจรักษาและสืบทอด “ไส้กรอกคุณวี” ให้ยืนหยัดคงอยู่ต่อไป

จุดเริ่มต้น “ไส้กรอกคุณวี”
“เริ่มจากความชอบของคุณยายค่ะ คุณยายชอบอาหารฝรั่ง ชอบกินไส้กรอก แต่สมัยนั้นยังไม่ค่อยคนขายไส้กรอกมากเท่าไหร่ คุณยายเลยเริ่มทำร้านเล็กๆ ของตัวเองขึ้นมาที่ซอยสุขุมวิท 18 แรกเริ่มตั้งชื่อร้านว่า ไส้กรอกเวียนนา 18 ตามชื่อชนิดของไส้กรอก ตอนหลังเราถึงเปลี่ยนชื่อเป็น ไส้กรอกคุณวี ซึ่งมาจากชื่อ ทวีศรี ชื่อจริงของคุณยายค่ะ”






สูตรเด็ดไส้กรอกคุณวี
“เป็นไส้กรอกรสชาติจัดจ้านแบบไทยๆ เป็นเอกลักษณ์ มีสูตรรมควันพริกสด รมควันพริกไทย รมควันกระเทียม อย่างตัวพริกสด เราใส่เป็นเม็ดๆ พริกไทยเราใช้พริกไทยอ่อน รสชาติแบบจัดจ้าน เป็นสูตรเดิมที่ทำมาตั้งแต่ 70 ปีที่แล้ว เป็นความภาคภูมิใจของคุณยาย เอกลักษณ์ของรสชาติทำให้ร้านยังคงมีลูกค้าอยู่จนถึงทุกวันนี้”
ความทรงจำในวัยเด็ก
“เราเกิดมาก็มีร้านอยู่แล้ว แม้เราไม่ค่อยเข้าร้านเท่าไหร่ แต่เราโตมากับคุณยาย และคุณยายรักไส้กรอกมากเป็นชีวิตจิตใจ พูดตลอดว่าห้ามทิ้ง ห้ามเลิกทำร้านไส้กรอก คิดว่าน่าจะเพราะคุณยายตั้งใจสร้างมันขึ้นมาด้วยตัวเอง เป็นความผูกพันและความภาคภูมิใจของเขาที่เลี้ยงดูครอบครัวได้”
เหตุผลที่กลับมา ‘ทำที่บ้าน’
คุณหวานเล่าว่า เส้นทางการสานต่อกิจการที่บ้านของเธอไม่ได้หวือหวามากนัก เป็นการสานต่อกันจากรุ่นสู่รุ่น เริ่มจากคุณแม่ที่ช่วยคุณยายทำร้านไปด้วยกัน และเมื่อคุณยายเสีย คุณแม่ก็ยังคงทำร้านต่อมาเรื่อยๆ คุณหวานเริ่มเข้ามามีบทบาทในร้านอย่างจริงจังในช่วง COVID-19 โดยเธอเข้ามาช่วยด้านการตลาดและประชาสัมพันธ์ออนไลน์
“มั่นใจตั้งแต่เด็กว่าโตมาเป็นแม่ค้าเลยค่ะ ไม่มีเป้าหมายหรือความฝันอื่นๆ ที่บ้านไม่เคยบังคับว่าต้องเรียนอะไร หรือต้องทำอะไรต่อ แต่เหมือนเราอยากทำเอง รู้สึกว่า มันเป็นความภาคภูมิใจของยาย แล้วเรารักยายมาก เลยอยากให้มันอยู่ต่อไป ก่อนหน้านี้เรามีช่วยงานที่ร้านนิดหน่อย แต่คนหลักคือคุณแม่”
“จุดเปลี่ยนคือ เพิ่งย้ายร้านจากสุขุมวิทมาอยู่แถวเซนต์หลุยส์ช่วงเดือนพฤศจิกายน 2567 ถือเป็นโอกาส Rebranding เราเลยคิดว่าต้องเริ่มแล้ว อยากให้มีร้านสวยๆ ให้คนมาถ่ายรูป ดึงดูดลูกค้าเพิ่มขึ้น จึงเริ่มเข้ามามีบทบาทเต็มตัวมากขึ้น พยายามขยันทำคอนเทนต์ เราก็ต้องเรียนรู้อยู่ทุกวันค่ะ”

ย้ายร้านเพราะอยากถูกค้นพบมากขึ้น
จากร้านต้นตำรับที่ซอยสุขุมวิท 18 ย้ายมาอยู่ย่านเซนต์หลุยส์เพราะต้องการให้ลูกค้าเข้าถึงและรู้จักร้านง่ายมากขึ้น เพิ่มโอกาสการขายได้มากขึ้นตามไปด้วย
“เหตุผลคือ อยากโดนค้นพบมากขึ้น อยากมีลูกค้าเพิ่ม เมื่อมีโอกาสเลยคิดว่าจะลองดูหน่อย แต่ก่อนร้านเราอยู่ในซอย ต้องตั้งใจไปซื้อจริงๆ แต่ตอนนี้ร้านเราอยู่ริมถนน มีคนมากหน้าหลายตา ทุกคนในร้านก็ตื่นเต้นกับบรรยากาศใหม่ๆ มีลูกค้าหน้าใหม่ๆ แวะมาดู ลูกค้าเดิมก็ตามมา ต้องขอบคุณมากๆ เลยค่ะ ยิ่งพอลูกค้าบอกว่าตามมาจากโซเชียลนะ เราก็ยิ่งมีกำลังใจทำคอนเทนต์ต่อ คิดว่าถ้าลูกค้าชอบและบอกต่อก็ดีใจแล้ว”

อธิบายและทำให้เห็นจนที่บ้านเชื่อใจ
ช่วงย้ายสถานที่และตกแต่งร้านใหม่ คุณหวานยอมรับว่าคุณแม่ไม่เห็นด้วยเท่าไหร่นัก เพราะต้องใช้เงินเยอะ แต่คุณหวานใช้วิธีค่อยๆ สื่อสารอย่างใจเย็นถึงเหตุผลที่ต้องปรับเปลี่ยนตามยุคสมัย และนำระบบเข้ามาใช้ที่ร้านมากขึ้น
“ตอนแรกแม่ไม่ยอมเพราะว่ามันเปลือง เราไปทำการบ้านหาดีไซเนอร์ หาระบบทำราคา เรามีเวลาในการย้ายร้าน 2 เดือน พอแม่เห็นว่าเราจริงจัง และเราพูดคุยกับคุณแม่มากขึ้น เขาเลยยอมเปิดใจ แม่มักจะปฏิเสธไว้ก่อน แต่ถ้าเราอธิบายให้เขาเข้าใจ เขาก็จะโอเค เราต้องเข้าใจเขา และค่อยๆ ทำให้เขาเข้าใจ ไว้ใจ และสบายใจกับเรา”
สื่อสารและแบ่งงานตามความถนัดของคนในครอบครัว
คุณหวานมีน้องสาวมาช่วยบริหารร้านด้วย ทั้งสองคนแบ่งภาระงานกันตามความถนัดของแต่ละคน เน้นการสื่อสารกันและทำงานตามขอบเขตหน้าที่ของตนเอง ทำงานกันอย่างชัดเจนและสบายใจ
“ทำงานกับพี่น้องค่อนข้างสบายใจ เราคุยกันง่าย เพราะเราสนิทกันอยู่แล้วเป็นทุนเดิม อีกอย่าง น่าจะเป็นการแบ่งงานที่ชัดเจน หลังบ้านเป็นเรา หน้าบ้านเป็นเค้า แบ่งตามความถนัด เลยไม่ค่อยมีปัญหาอะไร”
บริหารงานแบบครอบครัว อยู่กันด้วยความไว้ใจและรู้งาน
“พอเริ่มมีร้านใหม่ คุณแม่ก็เลยไม่ค่อยเข้ามาที่ร้าน แต่ช่วยขายผ่านหน้าจอแทน ดูกล้องวงจรปิด โชคดีที่ร้านเราเป็นร้านเล็กๆ พี่พนักงานอยู่กันมานาน แก่มาด้วยกัน เราเลยไม่ต้องเข้าไปวุ่นวายอะไร ทุกคนทำหน้าที่ของตัวเองและรักในงานการขายและสินค้าจริงๆ อยู่กันเป็นครอบครัว พนักงานมีความสุข แม่ก็มีความสุข”

เปิดใจและปรับตัวกับความสนใจใหม่ๆ
“เรื่องรสชาติ เราปรับตัวให้ทันสมัยมากขึ้น เพิ่มรสชาติที่น่าจะเป็นที่นิยมกัน เช่น ไส้กรอกรมควันชีส เพราะเห็นช่วงนี้คนชอบกินไส้กรอกชีสเยิ้มกัน แต่รสชาติเราต่างจากคนอื่นอยู่แล้ว เราพัฒนาสูตรรสชาติเอง แต่ตัวไส้กรอกยังเป็นสูตรเดิม อนาคตเราอาจพัฒนารสชาติให้มีลูกเล่นเพิ่มมากขึ้นด้วย”
หาเอกลักษณ์ของตัวเองให้เจอและรักษามันไว้
คุณหวานเชื่อว่า เอกลักษณ์ของ “ไส้กรอกคุณวี” คือเรื่องรสชาติและคุณภาพที่ไม่เหมือนใคร เธอมักบอกเสมอว่าอยากให้ทุกคนได้ลองชิมไส้กรอกของร้าน แล้วจะเข้าใจว่ามันแตกต่างจากที่อื่นอย่างไร และจะได้เข้าใจเหตุผลที่ร้านยังอยู่มาได้ด้วยรสชาติของตัวสินค้าเอง
“เราขายคุณภาพและรสชาติที่คุณยายทำไว้ตั้งแต่วันแรก ซึ่งสิ่งนี้เป็นหัวใจสำคัญที่เราจะไม่เปลี่ยน อย่างที่เราไปลองที่อื่นๆ มา รสชาติก็ไม่เหมือนกันเลยนะคะ แปลว่าเราต้องไปลองและหารสชาติของตัวเอง ถ้าเรารู้ว่าจุดแข็งของเราอยู่ตรงไหน เราก็ควรรักษามันไว้ ซึ่งวิธีการหาจุดแข็งของเราก็อาจใช้การพูดคุยกับลูกค้า รับฟังเขา จะได้รู้ว่าเขาชอบอะไรในสินค้าของเรา”
“อีกอย่างที่สำคัญคือ ประวัติความเป็นมาของเราเอง เรารู้ที่มาที่ไปว่าเรามาทำธุรกิจนี้ได้อย่างไร เรารู้พาสชันของคุณยาย เรื่องราวเหล่านี้สำคัญมาก ถ้าเรามีอยู่ เราจะเจอจุดแข็งของเราได้ และอยากรักษาให้มันคงอยู่ต่อไป”

ฝากถึงทายาท
“การสื่อสารเป็นเรื่องสำคัญมาก โดยเฉพาะกับรุ่นพ่อรุ่นแม่ ถ้าเราสื่อสารแล้วเข้าใจกันได้ ว่าการเปลี่ยนแปลงต้องใช้เวลา ต้องค่อยๆ ทำ รับฟังกันและกัน ยิ่งถ้าผู้ใหญ่ที่อยู่มานาน เขารู้สึกว่าที่เป็นอยู่มันดีอยู่แล้ว จะเปลี่ยนทำไม เราก็ต้องค่อยๆ อธิบายให้เห็นว่า ถ้าเราอยากให้ธุรกิจมันเติบโต เราต้องเริ่มเปิดใจ ที่สำคัญคือ ต้องใจเย็นทั้งกับผู้ใหญ่และกับตัวเองด้วยค่ะ”