ทายาท “จิระพาณิชย์จักรยาน” ผู้ชุบชีวิตธุรกิจที่บ้านด้วยช่องทางออนไลน์  กับการกล้าลงมือทำสิ่งที่ ‘คิด’ ให้เกิดขึ้น ‘จริง’

ทายาท “จิระพาณิชย์จักรยาน” ผู้ชุบชีวิตธุรกิจที่บ้านด้วยช่องทางออนไลน์ กับการกล้าลงมือทำสิ่งที่ ‘คิด’ ให้เกิดขึ้น ‘จริง’

ทำที่บ้าน

ปฏิเสธไม่ได้ว่า การทำธุรกิจย่อมเจอความท้าทายหรือโจทย์ยากๆ ที่บางครั้งก็ทำให้เราไม่อยากไปต่อ หลายคนเลือกที่จะยอมรับกับโชคชะตานั้น ในขณะที่อีกหลายคนก็มองหาเส้นทางที่จะเปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาสอีกครั้ง “แบงค์-ทวีลาภ จิรศรัณยานนท์” ทายาทร้านจิระพาณิชย์จักรยาน ก็เป็นตัวอย่างหนึ่งของคนที่ไม่ยอมแพ้กับประตูที่ปิดไป แต่มองหาประตูบานใหม่ที่เปิดรออยู่ ด้วยการกล้าลงมือทำสิ่งที่แตกต่าง เพื่อพัฒนาธุรกิจครอบครัวให้ดีขึ้นกว่าเดิม

จุดเริ่มต้นก่อนจะมาเป็นร้านขายจักรยาน

จุดเริ่มต้นการทำธุรกิจ เกิดจากความใส่ใจของคุณปู่ที่เห็นว่า ลูกๆ ชอบปั่นจักรยาน คุณปู่จึงมาช่วยซ่อมจักรยานให้ลูก เมื่อเห็นว่าทักษะนี้ไม่ใช่เรื่องยากนัก คุณปู่จึงลองเปิดร้านซ่อมจักรยานและมอเตอร์ไซค์อยู่ที่จังหวัดทางภาคเหนือ แต่ร้านขายจักรยานแบบจริงจังเริ่มต้นเมื่อคุณพ่อย้ายครอบครัวมาตั้งรกรากอยู่ที่อำเภอปะทาย จังหวัดนครราชสีมา เมื่อธุรกิจเริ่มเติบโตจึงย้ายร้านมาที่อำเภอบัวใหญ่ ปัจจุบันดำเนินกิจการมากว่า 30 ปีแล้ว   

วัยเด็กที่โตมาในร้านขายจักรยาน

คุณแบงค์คุ้นเคยกับจักรยานในร้านเป็นอย่างดี เพราะคลุกคลีและเติบโตอยู่ในร้านตั้งแต่เด็ก จนถึงช่วงก่อนเข้าชั้นมัธยมศึกษา เขาได้ช่วยคุณพ่อขายและซ่อมจักรยานที่หน้าร้านบ้าง แต่ครอบครัวไม่ได้คาดหวังให้คุณแบงค์มารับช่วงต่อธุรกิจของที่บ้านอย่างจริงจัง เพราะอยากให้ตั้งใจเรียนสูงๆ มากกว่า พอเริ่มเรียนต่อมัธยมที่โรงเรียนประจำ คุณแบงค์จึงห่างหายจากการช่วยงานที่บ้านไป 

“ผมชอบปั่นจักรยานแต่เด็ก ปั่นไปเล่นกับเพื่อน อยากได้จักรยานคันไหนก็หยิบไปหนึ่งคันเป็นของตัวเอง คันอื่นไว้ขาย พ่อขาย ผมก็ช่วยบ้าง พ่อแม่อยากให้ผมเรียนมากกว่า ไม่ได้อยากให้ช่วยทางธุรกิจมากนัก ผมช่วยที่บ้านถึงป. 6 ช่วงมัธยมถึงมหาวิทยาลัยไปเรียนต่างจังหวัด เลยไม่ค่อยได้ช่วยมากนัก”

‘วิกฤตใหญ่’ ที่ทำให้กลับมา ‘ทำที่บ้าน’

จุดเปลี่ยนของการกลับมาทำที่บ้าน เกิดจากวิกฤตการณ์ในครอบครัว ที่ทำให้คุณแบงค์รู้สึกอยากลงมือทำอะไรบางอย่าง เพื่อช่วยให้ครอบครัวรอดพ้นจากวิกฤตนี้ “ผมเรียนจบวิทยาศาสตร์เคมีมา พอเรียนจบก็ตั้งใจอยากหางานทำให้ตรงสาย แต่ช่วงรอสมัครงาน มีจุดเปลี่ยนคือ ร้านแรกที่เราเปิด อยู่ในทำเลที่ดีเหมาะกับการขายของมาก แต่เจ้าของตึกต้องการขายตึก ตอนนั้นคุณพ่อไม่มีเงินมากพอจะรักษาร้านไว้ได้ จึงต้องมองหาทำเลอื่นเพื่อเปิดร้านใหม่ ช่วงนั้นคุณพ่อเครียดมากถึงขั้นล้มป่วย ผมคิดว่านั่นเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญสำหรับผมเลย เพราะผมรู้สึกผิดที่ช่วยพ่อรักษาร้านแรกไว้ไม่ได้”

“แต่ผมคิดว่า เมื่อประตูบานหนึ่งปิด ย่อมมีประตูอีกบานเปิดรออยู่ ในระหว่างที่รอหางาน เลยหาข้อมูลการขายออนไลน์เพื่อช่วยที่บ้านก่อนจะออกไปทำงานประจำ ประจวบเหมาะว่า พ่อมีจักรยานเสือหมอบที่ขายออกยากมาก อยากให้ผมลองไปขายออนไลน์ดู จะมีส่วนแบ่งให้ ตอนนั้นผมก็อยากช่วยแบ่งเบาภาระคุณพ่อด้วย อยากให้พ่อเห็นว่าเราโตแล้ว เรียนจบแล้ว ผมเลยตัดสินใจช่วยที่บ้านไปเรื่อยๆ ก่อน”

เปิดช่องทางขายจักรยานออนไลน์ 

แม้ช่องทางการขายออนไลน์เริ่มเป็นที่รู้จักบ้างแล้วในช่วงนั้น แต่ยังไม่แพร่หลายมากนัก และยังไม่มีใครขายจักรยานออนไลน์มาก่อน แต่คุณแบงค์มองเห็นโอกาสในสิ่งที่คนอื่นมองไม่เห็น จึงลองขายจักรยานผ่านช่องทางออนไลน์ดู ด้วยความคิดที่ว่า อยากลองทำอะไรสักอย่างเพื่อช่วยให้สถานการณ์ที่บ้านดีขึ้น 

“ตอนนั้นคิดแค่ว่าอยากลองทำดู อยากช่วยคุณพ่อระบายสินค้า เลยลองศึกษาดูว่าการขายออนไลน์ทำอย่างไร ตอนแรกขายอะไหล่รถจักรยาน เล็กๆ น้อยๆ ในกลุ่ม ไม่ได้ยิงโฆษณา แต่ผมว่าการเติบโตมันน้อย เลยศึกษาเพิ่มเติมอยู่สองอาทิตย์ ตอนนั้นไม่ค่อยมีใครเห็นด้วยนะ แต่ผมก็อยากจะลองดู ผมถ่ายรูปสินค้า ลงรายละเอียดเล่าเรื่องสินค้า และยิงโฆษณา จำได้ว่า ลงขายเสร็จ ผมออกไปข้างนอก สักพัก ลูกค้าทักมาเต็มเลย และคืนนั้นผมปิดการขายได้สิบคัน อันนี้คือความมหัศจรรย์ของ Online Platform เลย”

“ตอนนั้นคุณพ่อก็ตกใจนะว่าขายได้จริงหรือเปล่า ขอดูสลิปโอนเงิน อีกปัญหาที่เจอคือ เราจะขนส่งสินค้าอย่างไร เลยไปปรึกษาไปรษณีย์ไทย เขาแนะนำว่าให้จัดส่งแบบธรรมดา ค่าส่งจะถูกกว่า แต่ลูกค้าจะรอสินค้านาน ผมก็ไปอธิบายให้ลูกค้าฟัง หลังจากนั้นก็แพ็กสินค้ากันแทบไม่ทันเลยครับ ผมต้องไปเหมาสินค้าจากโรงงานเลย หลังจากนั้นก็ขายจักรยานเสือหมอบมาเรื่อยๆ โรงงานก็มาให้ผมช่วยขายให้ ช่วยเขียนเล่าเรื่องสินค้าให้หน่อย ทำให้ร้านเรามีโอกาสใหม่ๆ เข้ามา ต้องจ้างทีมงานเพิ่ม แต่ก่อนมีทีมงานหนึ่งคน เป็นช่างซ่อมและคนช่วยขนส่งจักรยาน ถึงจะฟังดูลำบาก แต่ตอนนั้นสนุกเพราะลุ้นทุกวันว่าจะประกอบทันไหม จะไปส่งทันไหม แต่ทุกวันนี้ รถไปรษณีย์เข้ามารับสินค้าที่บ้านเลย ความตั้งใจที่จะหางานประจำทำให้ตรงสายก็หายไป เพราะสนุกกับการขายของออนไลน์และอยากอยู่ดูแลครอบครัวด้วย” 

กำลังใจจากครอบครัว คือปัจจัยสำคัญในการทำธุรกิจที่บ้าน

ปฏิเสธไม่ได้ว่าการเริ่มต้นทำอะไรใหม่ๆ ย่อมต้องเจออุปสรรคและเรื่องท้าทายอยู่ไม่น้อย แต่คุณแบงค์บอกว่า เขาโชคดีมากที่มีกำลังใจที่ดีจากครอบครัวที่คอยหนุนหลังเขาอยู่ตลอด “ตอนแรกคุณพ่อก็กังวลนะ ขายออนไลน์จะดีจริงหรือ จะเจอมิจฉาชีพหรือเปล่า รวมถึงเรื่องภาษีต่างๆ แต่ผมบอกคุณพ่อว่า ให้ผมลองทำก่อน ผมตั้งใจศึกษาข้อมูลมา ถ้ามันจะเสียหาย ก็เสียแค่ค่ายิงโฆษณา 300 บาท ผมของบพ่อแค่ตรงนั้น ส่วนสินค้าเรามีในคลังอยู่แล้ว ไม่มีอะไรเสียหาย ถ้าขายดีขึ้นแล้วเราค่อยมาคุยกันอีกที ผมเข้าใจในมุมที่คุณพ่อกังวล เพราะเขาก็มีรูปแบบการทำงานที่ประสบความสำเร็จในแบบของเขา แต่ถ้าเราไม่กล้าทำสิ่งใหม่เลย เราก็ไม่โตไปกว่านี้ 

“การทำธุรกิจมันมีปัญหาเข้ามาตลอด กำลังใจและความไว้วางใจของครอบครัวเป็นปัจจัยสำคัญมากสำหรับผม เวลาเจอปัญหา คุณพ่อไม่เคยพูดว่า เห็นไหม บอกแล้ว ทำอย่างนี้ไม่เวิร์ก ไม่มีเลย เขาจะบอกแค่ว่า ลองคิดดูว่าจะแก้อย่างไร ถ้ามีอะไรให้ช่วยก็บอก อะไรที่ทำดี เขาก็จะชมว่าทำดีแล้ว ทำต่อไป ผมโชคดีที่คุณพ่อให้อิสระและพื้นที่ในการลองผิดลองถูกกับผมเสมอ ทำให้ผมไม่กลัวที่จะทดลองและเรียนรู้เรื่องใหม่ๆ ” 

แบ่งหน้าที่ในการทำงานและสื่อสารกันตลอดเวลา 

คุณแบงค์เล่าถึงการทำงานร่วมกันกับครอบครัวที่ค่อนข้างเป็นไปอย่างราบรื่นว่า เขาใช้วิธีแบ่งหน้าที่การทำงานกันอย่างชัดเจน โดยคุณพ่อคุณแม่ดูเรื่องการขายหน้าร้าน ส่วนเขารับผิดชอบด้านการขายออนไลน์ทั้งหมด โดยไม่ลืมที่จะสื่อสารพูดคุยกันอย่างตรงไปตรงมาอยู่เสมอ

“เราพูดคุยกันตรงๆ ไม่ซ่อนปัญหากัน ผมจะบอกตลอดว่าตอนนี้มันมีปัญหา มีเรื่องอะไรที่สะดุดบ้าง เราคุยกันตลอด คุณพ่อก็ให้คำแนะนำมา ผมก็ลองไปแก้ปัญหาดูอีกที เราทำงานแบบไม่ก้าวก่ายกัน มีคุณพ่อเป็นที่ปรึกษาอยู่เบื้องหลัง พูดได้เลยว่า ผมมีทุกวันนี้ได้ก็เพราะคุณพ่อคุณแม่ ผมทำอะไรผิดพลาด ท่านก็คอยเตือนสติ เช่น ช่วงนี้แผ่วไปแล้วนะ Active ขึ้นมาหน่อย หรือ ช่วงนี้เครียดไปแล้ว อย่าลืมผ่อนคลายบ้าง ผมเองก็รู้ตัว แต่ก็รู้สึกดีที่มีคนคอยเตือนเราอีกที”  

ปรับตัวให้ทันยุคและพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ

ปัจจุบันยอดขายที่ร้านจิระพาณิชย์ดีขึ้นกว่าเดิม 4-5 เท่า โดยมีรายได้หลักจากการขายออนไลน์ ในฐานะที่คลุกคลีและประสบความสำเร็จ กับวงการขายสินค้าออนไลน์มาอย่างยาวนาน จนเคยได้รับเชิญเป็นวิทยากรให้กับ Lazada เพื่อแบ่งปันเทคนิคการขายออนไลน์ให้ได้ยอดขายปังๆ วันนี้คุณแบงค์มาแบ่งปันมุมมองการทำธุรกิจผ่านช่องทางออนไลน์ให้กับชาวทำที่บ้านไว้อย่างน่าสนใจ 

“เมื่อสิบปีที่แล้ว ตลาดออนไลน์ยังเป็น Blue Ocean ที่ไม่ค่อยมีคนทำมากนัก ผมได้เปรียบที่เข้ามาก่อน แต่ทุกวันนี้มีคู่แข่งเต็มไปหมด มันยากขึ้นมาก แต่สิ่งที่สำคัญคือการศึกษาหาข้อมูลอยู่ตลอดเวลา ไม่ยึดติดกับสิ่งเดิมๆ ที่เคยทำ เมื่อก่อน ผมขายของใน Facebook ช่องทางเดียวก็ขายดีแล้ว แต่ถ้าผมไม่ขยับไปขายใน Lazada, Shopee, TikTok ไม่ Live ธุรกิจผมก็อาจจะจบไปแล้ว ผมคิดว่า เราต้องมีการปรับตัว หาความรู้ และมีความกล้าที่จะลองทำเรื่องใหม่ๆ ตอนแรกผมก็ไม่กล้า Live ไม่กล้าออกกล้อง แต่พอได้ลองทำ มันก็ไม่ได้น่ากลัวขนาดนั้น ความกลัวเป็นสิ่งที่ผมสร้างเอง แต่การลงมือทำและกล้าเปลี่ยนแปลงตัวเองมันสำคัญกว่า”

ช่วงเวลาที่ภูมิใจจนจำไม่ลืม

กว่าจะประสบความสำเร็จมาถึงวันนี้ คุณแบงค์ได้เรียนรู้อะไรหลายๆ อย่างระหว่างทาง แต่ถ้าให้เลือกนึกถึงช่วงเวลาที่คุณแบงค์ประทับใจที่สุด เขาบอกว่า นึกถึงคืนแรกที่ขายจักรยานเสือหมอบได้ 10 คัน

“ผมศึกษาและเริ่มขายออนไลน์ครั้งแรกเพราะอยากให้พ่อแม่หายเหนื่อย อยากให้เขาเห็นว่า การขายจักรยานออนไลน์ก็เป็นไปได้ จุดเปลี่ยนคือ วันที่ผมขายจักรยานได้สิบคันในคืนเดียว เช้ามาก็ตื่นเต้นว่าจะแพ็กสินค้าทันหรือเปล่า ตอนนั้นมันเหนื่อยนะ เหนื่อยกว่าทุกวันนี้ แต่เป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุด ตอนนั้นที่บ้านเราเจอวิกฤตมา เรากำลังลังเลว่า จะไปทำงานประจำดีไหม หรือจะดูแลใจพ่อแม่ที่กำลังเศร้าอยู่ กลายเป็นได้เส้นทางใหม่ในการขายออนไลน์จนถึงวันนี้ คืนแรกที่ขายได้ มันเลยเหมือนปลดล็อกว่าเราทำได้แล้วจริงๆ ด้วย”

 

“ตอนที่สาขาแรกโดนยึดไป ผมมานั่งเศร้าคนเดียวในสวนสาธารณะที่ผมไม่สามารถช่วยเหลืออะไรครอบครัวได้ นอกจากช่วยขนของย้ายร้าน มันเป็นเหตุการณ์ที่กระตุ้นให้ผมอยากพัฒนาตัวเองให้ดีขึ้น เรื่องร้ายที่ผมเจอในวันนั้น ทำให้ผมเปลี่ยนตัวเองจนมีวันนี้ ถ้าไม่เจออุปสรรค ผมอาจจะยังช่วยพ่อแม่ขายจักรยานอยู่หน้าร้าน หรืออาจจะไปทำงานตรงสายที่เรียนมาก็ได้” 

แนะนำคน “ทำที่บ้าน” 

คุณแบงค์ฝากถึงทายาททำที่บ้านไว้อย่างสั้นๆ ง่ายๆ ว่า “เราควรกล้าลงมือทำในสิ่งที่เราคิด ลุกขึ้นมาลงมือทำในสิ่งที่ตัวเองคิดว่าเป็นไปได้ อย่ากลัวมากนัก อย่างน้อยเราก็ได้เรียนรู้”