เปลี่ยน Feedback เป็น ‘Feedforward’  วิจารณ์งานให้องค์กรก้าวไปข้างหน้า

เปลี่ยน Feedback เป็น ‘Feedforward’ วิจารณ์งานให้องค์กรก้าวไปข้างหน้า

ทำที่บ้าน

คนเราจะก้าวหน้าได้ ก็ต้องไม่เดินถอยหลัง คือไม่วนเวียนนึกถึงอดีตที่ผ่านไปแล้ว และถ้าจะให้องค์กรก้าวหน้า ก็ควรต้องทำแบบเดียวกัน คือไม่หยิบอดีตที่ผิดพลาดของพนักงานมาพูดซ้ำๆ แต่แนะนำสิ่งที่ควรทำในอนาคตแทน

เพราะพนักงานถือเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ช่วยให้ธุรกิจประสบความสำเร็จ ต่อให้บริษัทมีเงินทุน มีไอเดีย หรือมีกลยุทธ์ที่ดีแค่ไหน แต่ถ้าขาดกำลังคนที่จะมาช่วยผลักดัน ธุรกิจก็ไม่สามารถเดินต่อไปได้ ยิ่งถ้าพนักงานในองค์กรทุกคนมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ธุรกิจก็ยิ่งเดินหน้าไปได้ไกล

แต่ก่อนที่พนักงานคนหนึ่งจะพัฒนานั้น เขาต้องรู้จุดที่ควรปรับปรุงในตัวเองก่อน จึงเป็นหน้าที่ของหัวหน้าที่จะต้อง Feedback ให้คำแนะนำจากผลงานที่ผ่านมา 

อย่างไรก็ตาม หัวหน้าหลายๆ คนมัก Feedback ด้วยการวิจารณ์ข้อผิดพลาดในอดีต หรือยกสิ่งที่พนักงานเคยทำผิดพลาดในงานก่อนๆ มาต่อว่าซ้ำๆ โดยไม่ได้มีคำแนะนำในการแก้ไขใดๆ หรือบางทีก็ไปจี้จุดอ่อนของพนักงานมากเกินไป โดยไม่ได้สนใจจุดแข็งที่เขามี จนสุดท้ายพนักงานก็ไม่ได้พัฒนา และบริษัทก็ไม่ได้เดินหน้าไปด้วย

ไม่ใช่ทุกคนที่จะนำคำด่ามาเป็นพลัง เพราะคนแต่ละคนรับมือกับคำวิจารณ์ได้ไม่เท่ากัน พนักงานบางส่วนที่มีความอ่อนไหวต่อคำตำหนิมาก เมื่อได้รับ Feedback แล้ว ก็อาจรู้สึกท้อแท้ สูญเสียความมั่นใจในตัวเอง ไม่กล้าทำสิ่งใหม่ๆ จนขาดแรงจูงใจในการพัฒนาตนเองในที่สุด 

เพื่อหลุดออกจากกับดักการให้ Feedback แบบเดิมๆ แทนที่หัวหน้าจะโฟกัสสิ่งที่ผ่านมาแล้ว ให้เปลี่ยนมาให้คำแนะนำเชิงสร้างสรรค์ ที่เน้นว่าควรจะทำอะไรสำหรับอนาคตข้างหน้าจะดีกว่า การให้คำแนะนำแบบนี้เรียกว่า “Feedforward” ซึ่งเป็นแนวคิดของ ‘Marshall Goldsmith’ ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาภาวะผู้นำระดับโลก ซึ่งมีการจัดเวิร์กชอปให้กับผู้เป็นหัวหน้ากว่า 5,000 คน ให้เข้าใจการวิจารณ์งานแบบ Feedforward นี้

โดยเวิร์กดังกล่าวเริ่มจากการให้หัวหน้าที่เข้าร่วมอบรมแสดงบทบาทเป็นทั้งผู้ที่ให้คำแนะนำ และเป็นผู้ได้รับแนะนำจากคนอื่น ภายใต้ข้อแม้เพียงอย่างเดียวคือ “ห้ามให้คำแนะนำที่ยึดติดมาจากผลงานในอดีต”

เราลองถอดกิจกรรมจากเวิร์กชอป Feedforward และนำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันของเรากัน

1) เลือกพฤติกรรม 1 อย่างที่คุณอยากเปลี่ยนแปลง ซึ่งถ้าเปลี่ยนแปลงได้จะช่วยให้ชีวิตในอนาคตของคุณเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น เช่น แต่เดิมเป็นที่อารมณ์ร้อนมาก เจอคนว่านิดเดียวก็นอตหลุดแล้ว เลยอยากเปลี่ยนไปเป็นคนที่ใจเย็นขึ้น

2) บอกพฤติกรรมดังกล่าวให้คนตรงข้ามได้รับรู้

3) ขอคำแนะนำ 2 ข้อจากอีกฝ่ายว่า ทำอย่างไรถึงจะช่วยให้ทำพฤติกรรมนี้ได้ เช่น จากตัวอย่างที่

อยากเป็นคนใจเย็น ผู้แนะนำก็อาจจะแนะนำว่าให้ลองฝึกสติ เพื่อให้รู้เท่าทันอารมณ์ หรือ

เมื่อโกรธก็หายใจเข้าลึกๆ นับ 1-10 ในใจ เป็นต้น

4) ผู้ขอคำแนะนำ ต้องรับฟังคำแนะนำอย่างตั้งใจโดยไม่ขัดอีกฝ่าย เช่น ไปขัดว่า เคยลองแล้วไม่

เห็นได้ผล ทำยาก ไม่มีเวลา เป็นต้น

5) กล่าวขอบคุณอีกฝ่ายสำหรับคำแนะนำ

6) ถามอีกฝ่ายกลับว่า มีพฤติกรรมอะไรที่เขาอยากเปลี่ยนแปลงแล้วทำให้ชีวิตดีขึ้น

7) ให้คำแนะนำ 2 ข้อที่ช่วยให้เขาทำพฤติกรรมนั้นได้สำเร็จ

8) เมื่ออีกฝ่ายกล่าวขอบคุณมา ให้เราตอบรับคำขอบคุณกลับไป

การทำเวิร์กชอปนี้จะช่วยให้หัวหน้าเปลี่ยนกรอบความคิดในการให้คำปรึกษาแก่พนักงาน จากเดิมที่จะประเมินผลงานในอดีต แล้วเตือนไม่ให้พวกเขาทำแบบเดิมอีก ให้หันมาสนใจในทักษะแห่งอนาคตที่ช่วยเปลี่ยนแปลงตนเองไปในทิศทางที่ดีขึ้น ผ่านคำถามจากในเวิร์กชอป อีกทั้งหัวหน้าก็ได้มีโอกาสขอคำแนะนำ เพื่อเอาไปพัฒนาได้ เป็น 2 Way Communication

ประโยชน์ของ Feedforward จะช่วยให้พนักงานโฟกัสที่การพัฒนาตนเองเพื่ออนาคตที่ดีขึ้น ไม่ยึดติดกับข้อผิดพลาดในอดีต กล้าคิดนอกกรอบ และพร้อมรับมือกับความท้าทายภายในอนาคตได้ดีขึ้น อีกทั้งการเน้นที่วิธีการแก้ปัญหาในอนาคตมากกว่าที่จะมาจับผิดความผิดพลาดในอดีต จะช่วยให้เขาเห็นแนวทางในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในอนาคตได้ดีกว่า เปิดรับคำแนะนำมากกว่าการรับ Feedback แบบเดิม และเมื่อพนักงานปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่ดีขึ้น ก็ช่วยให้ธุรกิจเติบโตต่อไปได้ในระยะยาว

“เราสามารถเปลี่ยนอนาคตจากพฤติกรรมในปัจจุบัน แต่ไม่สามารถเปลี่ยนพฤติกรรมจากอดีตได้”

อ้างอิง: ‘Try Feedforward Instead of Feedback’:  Try Feedforward Instead of Feedback - MARSHALL GOLDSMITH

#ทำที่บ้าน

#FeedForward