ทายาทบ่อพลอยผู้รักษาวิธีขุดพลอย ดั้งเดิมของเมืองจันท์
“พลอยเมืองจันท์หมดไปแล้ว”
เป็นคำพูดที่หลายคนเคยได้ยินบ่อยๆ และอาจเชื่อไปตามนั้น แต่ “กุ๊ก-สราวุธ พึ่งตระกูล” ทายาทบ่อพลอยและผู้ก่อตั้ง “บ่อพลอยเหล็กเพชร” จะมาให้ข้อมูลอีกด้านของการขุดพลอยดั้งเดิมที่จังหวัดจันทบุรี และการอนุรักษ์กระบวนการขุดพลอยที่เขาอยากส่งต่อให้กับคนรุ่นหลัง เพื่อให้อาชีพของครอบครัวยังคงอยู่สืบไป
การขุดพลอยแบบดั้งเดิมของคนจันทบุรีที่สืบทอดมาเป็นร้อยปี
คุณกุ๊กเป็นทายาทรุ่นที่ 4 ของครอบครัวที่ประกอบอาชีพขุดพลอยที่สืบทอดมาเป็นร้อยปี เป็นรุ่นบุกเบิกในสมัยที่อาชีพขุดพลอยยังเป็นอาชีพของคนในชุมชน ทุกครอบครัวจะมีบ่อพลอยเป็นของตนเอง โดยจะขุดพลอยในช่วงฤดูแล้งสลับกับการทำเกษตรกรรม กระบวนการขุดพลอยแบบดั้งเดิมที่คนจันทบุรีทำกัน คือการใช้คนขุดชั้นดินลงไปเพื่อหาพลอย แบบไม่ใช้เครื่องจักรเลย
“ลักษณะของกระบวนการขุดพลอยแบบโบราณ คือ ชาวบ้านจะขุดในพื้นที่ที่ไม่ต้องการทำเหมืองพลอย เช่น ขุดในพื้นที่ระหว่างต้นไม้ในสวน เพราะเขาอยากได้พลอยที่อยู่ในดิน แต่ไม่อยากตัดต้นไม้ทิ้ง ขุดเสร็จแล้วจะเอาดินมากลบพื้นที่ ไม่ทิ้งให้เป็นหลุมเป็นบ่อ แล้วย้ายไปขุดบ่อใหม่และกลบไปเรื่อยๆ โดยที่ต้นไม้ยังคงให้ผลผลิตได้ตามปกติ จะต่างจากการทำเหมืองที่ต้องมีพื้นที่กว้างขวางให้เครื่องจักรทำงาน ต้องตัดต้นไม้ทิ้งทั้งหมด พอขุดไปถึงชั้นพลอย จะใช้เครื่องจักรไปตักแยกชั้นดินออกมา เมื่อเสร็จขั้นตอน นายทุนจะกลบพื้นที่ทั้งหมดให้ชาวบ้านไว้ทำการเกษตรต่อไป แต่พลอยในชั้นดินไม่เหลือแล้ว ถ้าเราต้องการรักษาต้นไม้ไว้ ก็ต้องใช้วิธีขุดบ่อพลอย”
จุดเริ่มต้นของ “บ่อพลอยเหล็กเพชร”
ก่อนจะกลับมา ‘ทำที่บ้าน’ คุณกุ๊กทำงานด้าน Media production ผลิตสื่อโทรทัศน์ แต่เมื่อคุณแม่ไม่สบาย คุณกุ๊กจึงเริ่มมองหางานที่สามารถทำที่บ้านได้ เพื่อจะได้มีเวลาดูแลคุณแม่มากขึ้น จึงเริ่มจากการขายเครื่องประดับออนไลน์ เพราะเป็นสินค้าที่ที่บ้านมีอยู่แล้ว เมื่อเริ่มมีฐานลูกค้า จึงมีลูกค้าแวะเวียนมาที่บ้านบ้าง และเมื่อได้เห็นกระบวนการขุดพลอยของที่บ้านก็เกิดความสนใจ เป็นเหมือนการจุดประกายให้คุณกุ๊กอยากเล่าขานต่อไปว่า การขุดพลอยแบบดั้งเดิมเป็นอย่างไร
ภายหลังจากที่คุณแม่เสียชีวิตลง ครอบครัวของคุณกุ๊กตัดสินใจร่วมกันที่จะต่อเติมอาคารเพื่อทำเป็นแหล่งเรียนรู้และอนุรักษ์กระบวนการขุดพลอยแบบดั้งเดิม และคุณกุ๊กเลือกนำนามสกุล “เหล็กเพชร” ของบรรพบุรุษมาตั้งชื่อบ่อพลอยแห่งนี้ จึงถือเป็นจุดกำเนิดของ “บ่อพลอยเหล็กเพชร” เป็นต้นมา
“พอถึงจุดหนึ่ง เราเห็นว่าการขุดพลอยเริ่มหายไป ตอนนี้เหลือแค่ผมกับน้องชายที่ทำเป็นอาชีพ ครอบครัวอื่นๆ เอาพื้นที่ไปทำเหมือง ใช้เครื่องจักรในการขุดหาพลอย ทำเป็นอุตสาหกรรม ดังนั้น พื้นที่ของเขาก็จะไม่เหลือพลอยในดินแล้ว เราจึงคิดจะใช้พื้นที่ของเราเป็นศูนย์การเรียนรู้ เป็นการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ เพื่อรับคนที่มีความสนใจเรื่องการขุดพลอยแบบโบราณ เพราะอยากให้อาชีพที่บรรพบุรุษเราทำมายังคงอยู่”
“พลอยเมืองจันท์” ยังไม่หมดไป
ก่อนหน้าที่คุณกุ๊กจะกลับมาทำที่บ้าน เขามีโอกาสเก็บประสบการณ์หลากหลายระหว่างทาง ทำให้เห็นโลกที่กว้างขึ้น และในขณะเดียวกันก็ตระหนักถึงคุณค่าของสิ่งที่ครอบครัวได้สร้างมามากขึ้นด้วยเช่นกัน
“ก่อนหน้านี้ เราขุดพลอยเป็นเรื่องปกติอยู่แล้ว ตอนนั้นไม่มีเสียงรอบข้างมาถามเราว่าทำอะไร เพราะเราอยู่ในชุมชนที่ทุกคนล้วนขุดพลอย แต่พอมีสื่อโซเชียล ทำให้มีคนสนใจ ประโยคหนึ่งที่เรามักได้ยินบ่อย คือคำว่า ‘พลอยเมืองจันท์มันหมดไปแล้ว’ ทั้งที่เรายังขุดพลอยขายกันอยู่ ในชุมชนของเรายังมีเหมืองพลอย ยังมีชาวบ้านที่ค้าพลอยอยู่ เราคิดว่า ยังมีคนเข้าใจผิดอยู่มากเรื่องพลอยเมืองจันท์ ในฐานะที่เราอยู่ในพื้นที่ตรงนี้ เราพยายามเล่าเรื่องราวตรงนี้ให้คนอื่นเข้าใจมากขึ้นว่า พลอยเมืองจันท์ยังอยู่นะ การขุดพลอยดั้งเดิมยังมีนะ แม้ว่ามันเหลือน้อยลงกว่าเดิมมากๆ แต่มันยังไม่หายไป มันเป็นเหมือนวิถีชีวิตเราที่คนอื่นไม่มีวันรู้เลย ในตำราก็ไม่มีบอก”
“ถ้า ‘บ่อพลอยเหล็กเพชร’ ยังทำแบบนี้อยู่ จะไม่ใช่แค่เล่าให้คนไทยฟัง ยังเล่าให้คนต่างชาติฟังด้วย ตอนนี้เราเป็นรุ่นที่ทำพลอยมาร้อยปี ถ้าถึงรุ่นที่ 8 มันจะกลายเป็นบ่อพลอยสองร้อยปี ผมใช้เวลาเจ็ดปีในการพยายามเล่าจนคนเริ่มเข้าใจว่าเราเป็นครอบครัวที่สืบทอดการทำพลอยกันมาจริงๆ และ ‘บ่อพลอยเหล็กเพชร’ ถูกสร้างมาเพื่อต้องการอนุรักษ์กระบวนการตรงนี้ไว้”
“ตอนนี้ผมมีที่อยู่ 15 ไร่ ถ้าผมขุดทำบ่อพลอยทุกวัน ปีหนึ่งอาจต้องขุดถึงสิบบ่อ แบบนี้ไม่ถึงสิบปี เราก็จะไม่มีพื้นที่ขุดพลอยแล้ว ผมจึงเปลี่ยนวิธีการทำงาน ผมจะขุดหาไปพร้อมๆ กับลูกค้าที่เข้ามาศึกษา เราจะได้ทำไปพร้อมกับเขา ได้ถ่ายทอดข้อมูลไปพร้อมๆ กัน ลูกค้าจะนำกระบวนการเหล่านี้ไปเล่าสู่กันฟังว่าคนเมืองจันท์ขุดพลอยแบบไหน กลุ่มลูกค้าหลักคือครอบครัวที่พาเด็กๆ มาทำ มันตรงกับสิ่งที่ผมอยากทำพอดี นั่นคือการอนุรักษ์และส่งต่อ เด็กๆ จะได้เข้าใจและเล่าต่อกันไป เพื่อให้เรื่องราวของการขุดพลอยเมืองจันท์ไม่หายไป”
วิธีคิดในการทำการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์
“เราเริ่มจากการทำสิ่งที่เราทำอยู่แล้ว สิ่งที่เป็นตัวตนของเราจริงๆ ส่วนการปรับเปลี่ยนเชิงธุรกิจจะเกิดจากที่ลูกค้าเป็นคนบอกเรามากกว่าว่าเขาสนใจอะไร ข้อมูลตรงนี้จะบอกเราเองว่า เราควรทำอะไรต่อกับธุรกิจของเรา อย่างตอนแรกผมคิดว่า การขุดพลอยเป็นกิจกรรมที่ต้องใช้แรง กลุ่มเป้าหมายน่าจะเป็นกลุ่มวัยรุ่น แต่พอเปิดจริงๆ กลายเป็นกลุ่มครอบครัวที่พาลูกหลานมาเรียนรู้แทน”
“หลังจากรู้กลุ่มเป้าหมายแล้ว เราเลยพัฒนากิจกรรมอื่นๆ เพิ่มเติมเพื่อให้เชื่อมโยงกับฐานลูกค้าเรามากขึ้น เช่น ทำผ้ามัดย้อมจากโคลนบ่อพลอย ทำเครื่องประดับ ค่อยๆ ปรับเปลี่ยนโมเดลตามฐานลูกค้าและผลตอบรับที่ได้ ปัจจุบันเรามีฐานลูกค้าหลักเป็นกลุ่มครอบครัวและชาวต่างชาติแบบครึ่งต่อครึ่ง แม้จะได้รับกระแสตอบรับเพิ่มขึ้นจากการไปออกสื่อโซเชียลมีเดีย ในช่องยูทูเบอร์หลายๆ ช่อง แต่กระบวนการดูแลลูกค้าเราเป็นเหมือนเดิมทุกอย่าง เน้นให้ข้อมูลทุกคนอย่างเท่าเทียมและทั่วถึงครับ”
ดำเนินธุรกิจแบบเน้นคุณภาพมากกว่าปริมาณ
“หลังช่วง COVID-19 เราใช้ระบบจองรอบเพื่อเข้ามาทำกิจกรรม 6-7 รอบต่อวัน จะมาคนเดียว สามคน หรือสี่คนต่อรอบก็รับหมด ไม่รวมกลุ่มกับใคร เราใช้การบริการแบบนี้มาตลอดตั้งแต่ตอนนั้น ทำให้ต่อวันเรารับลูกค้าไม่เยอะ แต่เป็นลูกค้าคุณภาพที่อยากมาทำกิจกรรมแบบ Exclusive ไม่ต้องเบียดเสียดกับใคร เพราะมันเป็นพื้นที่ของคุณ เป็นรอบของคุณ และเรามีทีมงานดูแลทุกฝีก้าว คอยให้ความรู้และอำนวยความสะดวก ทำให้ทรัพยากรหรือสถานที่ของเราถูกใช้ไปอย่างไม่ฟุ่มเฟือย และดูแลจัดการความสะอาดได้ง่าย”
“หลายคนถามว่า ทำไมไม่ขยายให้ใหญ่ขึ้น แต่เราก็คิดต่อว่า ถ้าเราขยาย เราจะยังสามารถมาพูดคุยกับลูกค้าทุกคนได้แบบนี้ไหม เราจะเสียความเป็นตัวตนไหม เราจะกลายเป็นเจ้าของธุรกิจที่มีลูกน้องมากขึ้น แต่เราจะไม่ได้โฟกัสลูกค้าอย่างเต็มที่ เราต้องเปลี่ยนบทบาทหน้าที่ไป พอเราสูญเสียตัวตนไป สิ่งที่เราอยากอนุรักษ์ อยากเล่าเรื่องราว เราก็จะไม่ได้ทำแล้ว และคนที่ตั้งใจมา เขาค่อนข้างอยากรู้เรื่องราวตรงนี้จริงๆ เขาอยากพูดคุยกับเรา ผมไม่อยากให้ลูกค้าได้ข้อมูลผิดๆ ไป ผมค่อนข้างซีเรียสเรื่องนั้นมาก อะไรที่มันผิดพลาดไป มันจะเป็น Digital Footprint ไปในอนาคต ผมว่าเป็นแบบนี้ดีกว่า น่าจะเป็นความยั่งยืนในอนาคตมากกว่าด้วยครับ”
ชวนลูกค้าสนใจ “คุณค่า” มากกว่ามูลค่าของอัญมณี
คุณกุ๊กเล่าว่า บ่อยครั้งที่นักท่องเที่ยวมาขุดแล้วเจอพลอย หากมีมูลค่าไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท เขาจะมอบให้นักท่องเที่ยวเก็บไว้ หากมีมูลค่าสูงกว่านั้น ทางบ่อพลอยเหล็กเพชรจะประเมินราคาด้วยความซื่อสัตย์ และนำมาแลกเปลี่ยนเป็นเครื่องประดับอัญมณีที่มีอยู่ในร้านแทน แม้จะเป็นกิจกรรมที่มีผลลัพธ์ล่อตาล่อใจ แต่คุณกุ๊กไม่เคยคิดจะนำผลพลอยได้มูลค่าสูงเหล่านี้ไปประชาสัมพันธ์เพื่อเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยว เพราะเขามองว่า อยากให้คนสนใจที่คุณค่าของกระบวนการขุดพลอย และสิ่งที่เราได้ลงมือทำมากกว่า
“การพูดความจริงจะเป็นประโยชน์ต่อเรามากที่สุด เจอของแพงก็บอกว่าแพง เจอถูกก็บอกว่าถูก ให้ลูกค้าได้รู้ว่าสิ่งที่เขาลงมือขุดเอง มันมีมูลค่าเท่าไหร่ แต่ผมไม่เคยเอาสิ่งนี้เป็นจุดขาย เพราะไม่อยากให้เริ่มต้นจากความโลภ การขุดหาพลอยจริงๆ บางทีไม่เจออะไรเลยก็มีนะ ทุกคนที่มาขุด ก็เต็มใจเรียนรู้กระบวนการมากกว่าหาผลประโยชน์จากผืนดินที่เราอยู่ เวลาลูกค้าขุดเจอพลอย เราจะต่อยอดไปเป็นกิจกรรมทำเครื่องประดับต่อ ให้เขาเห็นคุณค่าว่า พลอยที่ขุดมา มันมีชิ้นเดียวในโลกนะ เพราะเราขุดเองกับมือ เครื่องประดับก็มีชิ้นเดียวบนโลก คนก็จะมองไปที่คุณค่าของมันมากกว่ามูลค่าครับ ทำให้เขาอิ่มใจกลับไป ไม่ว่าผลลัพธ์จะเป็นอย่างไรก็ตาม”
ส่งต่อ “ตัวตน” ในแบบของตนเอง
คุณกุ๊กมองว่า หากต้องส่งต่อ “บ่อพลอยเหล็กเพชร” ให้กับทายาทของตนเอง เขาอยากส่งต่อ “ตัวตน” ให้ลูกได้ทำในสิ่งที่ตอบโจทย์ความเป็นตัวเอง เพื่อที่จะได้อยู่กับสิ่งที่เราเลือกได้อย่างมีความสุข
“ถ้าเราทำอะไรบนพื้นฐานความเป็นตัวตนของเรา เราจะอยู่กับตัวเองได้นาน ทำให้คนเข้าใจความเป็นตัวตนของเราได้มากขึ้น สมมติในอนาคต ลูกผมอยากทำ Live พาชมบ่อพลอย ก็ทำได้ คือทำในสิ่งที่ตัวเองถนัด ผมมองว่า ปัจจุบัน อัลกอริทึมมีผลต่อยูทูเบอร์มาก มันบีบบังคับให้เราต้องทำอะไรตามกระแสเพื่อเพิ่มยอดวิว เพิ่มมูลค่าทางธุรกิจ ตรงนี้มันก็ทำให้เราสูญเสียตัวตนไปโดยไม่รู้ตัว ซึ่งถ้าเขาหารายได้จากตรงนั้นด้วย เขาก็จำเป็นต้องทำ อันนี้ก็แล้วแต่ว่าแต่ละคนจะเลือกพัฒนาไปในรูปแบบไหน แต่สิ่งสำคัญคือ การเป็นตัวเองให้ได้มากที่สุด รู้จักตัวเองว่าชอบหรือไม่ชอบอะไร เพราะต่อให้อัลกอริทึมไม่ดี อย่างน้อยเรามีความสุขกับสิ่งที่เราทำอยู่”
“ในมุมของพ่อแม่ ผมคิดว่า ถ้าอยากให้ลูกหลานเข้ามาสืบทอด ต้องให้เขาต้องมีส่วนร่วมตั้งแต่เนิ่นๆ ผมจะไม่ให้ลูกผมเรียนจบแล้วมาต่อยอด แต่ทุกวันนี้ ผมให้ลูกเป็นส่วนหนึ่งของที่นี่ตั้งแต่ยังเด็ก แล้วเขาจะดำเนินการต่อในรูปแบบไหน เดี๋ยวเขาจะมีความชอบและเส้นทางของเค้าเอง ไม่ใช่ว่า มาทำแทนพ่อแบบหักดิบ
เพราะพอลูกโตแล้ว เขาจะรู้ว่าอยากทำอะไร มันอาจจะเป็นการหักอนาคตเขาเพื่อมาทำความฝันของเราต่อเลยก็ได้ แต่ถ้าเราให้ลูกมีส่วนร่วมด้วยตั้งแต่แรก มันจะเกิดความคิดว่า จะพัฒนาสิ่งที่ครอบครัวมี ไปในทิศทางของเขาได้”
“ส่วนในมุมของทายาท บางครั้งกว่าจะมองเห็นคุณค่าของธุรกิจที่พ่อแม่เราทำมา เราต้องตกผลึกให้ดีเสียก่อน ประสบการณ์ก่อนหน้าของเราก็เป็นปัจจัยสำคัญ ถ้าทายาทไปเจออย่างอื่นที่เขาชอบ ไปทำอย่างอื่นก็ง่ายกว่า ต้องถามตัวเองว่า หาเจอหรือยังว่าอยากทำอะไร อะไรคือคุณค่าในชีวิตของเรา แล้วได้มองข้ามสิ่งที่พ่อแม่ทำไว้หรือเปล่า ถ้าวันนี้ ถามตัวเองแล้วยังไม่รู้เลยว่าชอบอะไร จะทำธุรกิจของตัวเองหรือจะต่อยอดของครอบครัวดี ให้ลองเอาความชอบตัวเองไปพัฒนาธุรกิจของครอบครัวดูก่อน อาจจะค้นพบอะไรใหม่ๆ ก็ได้”