ทายาทรุ่นที่ 3 ชุมพรคาบาน่า รีสอร์ต กับการสานต่อธุรกิจ โดยไม่ทิ้งปณิธานในการรักษาชุมชนและสิ่งแวดล้อม
การเข้ามารับช่วงธุรกิจครอบครัวที่ยืนหยัดมายาวนาน นับว่าเป็นเรื่องท้าทายไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็นด้านการรักษาความแข็งแรงของธุรกิจที่มีอยู่ การเข้าไปเปลี่ยนแปลงเพื่อพัฒนาให้ดีขึ้น หรือแม้แต่การสานต่อปณิธานเดิมให้คงอยู่ต่อไป แต่ “ภูมิ-คิชภูมิ รักษ์พันธุ์” ทายาทรุ่นที่ 3 ในวัยไม่ถึง 30 ปีของชุมพรคาบาน่ารีสอร์ต กลับมุ่งมั่นและตั้งใจที่จะกลับมารับหน้าที่นี้ พร้อมความตั้งใจที่จะนำความรู้ความสามารถที่ตนเองมี มาช่วยทำให้ธุรกิจเติบโตต่อไปได้อย่างมั่นคง และเกื้อหนุนธรรมชาติและชุมชนอย่างยั่งยืน
จุดเริ่มต้นของ “ชุมพรคาบาน่า รีสอร์ต”
ชุมพรคาบาน่า รีสอร์ต อยู่คู่กับหาดทุ่งวัวแล่น จังหวัดชุมพรมากว่า 40 ปี โดยเริ่มจากความตั้งใจของคุณปู่ที่ต้องการสร้างครอบครัวกับคุณย่าที่จังหวัดชุมพรซึ่งเป็นบ้านเกิด ทั้งสองท่านมีวิสัยทัศน์ที่ต้องการพัฒนาชุมชนของตนเอง จึงริเริ่มจากการพัฒนาพื้นที่ โดยเริ่มต้นการทำโรงแรมบนพื้นที่ขนาด 3 ไร่ มีกลุ่มลูกค้าคือ คนพื้นที่จังหวัดชุมพรที่ต้องการแวะมาพักผ่อนริมชายหาด และผู้คนที่เดินทางผ่านจังหวัดชุมพรและต้องการแวะพักก่อนเดินทางต่อไปยังจังหวัดอื่นๆ ในภาคใต้ ก่อนจะค่อยๆ พัฒนาธุรกิจจนส่งต่อมาได้ถึงทายาทรุ่นที่ 3 ในปัจจุบัน
“สมัยก่อนการท่องเที่ยวเมืองรองยังไม่มีความนิยมมากเท่าไร แต่คุณปู่คุณย่ามีความคิดที่อยากพัฒนาบ้านเกิด เลยคิดวิธีการพัฒนาพื้นที่ขึ้นมา โดยเริ่มจากกระท่อม 3 หลัง เอาไว้รับคนที่ผ่านไปผ่านมาตรงนั้น ก็จะมีคนจากตัวเมืองแวะมาทานข้าวหรือมาเที่ยวชายหาด หรือว่าเป็นนักท่องเที่ยวที่ผ่านมาลงใต้และมาแวะพักที่นี่ คุณปู่เป็นคนกล้าทำสิ่งใหม่ๆ ที่ไม่เคยมีมาก่อน กล้าเสี่ยงในการบุกเบิกอะไรหลายอย่าง ไม่เคยติดกรอบอะไร ต่อให้ไม่เคยทำหรือไม่มีปัจจัยเกื้อหนุนในสิ่งที่จะทำ แต่เขาก็จะมีความคิดว่า มันต้องเริ่ม เมื่อเจอปัญหาก็เผชิญและแก้ไประหว่างทาง”
ความผูกพันต่อธุรกิจที่รู้สึกอบอุ่นเหมือนบ้าน
“ผมเรียนที่กรุงเทพฯ มาตั้งแต่เด็ก แต่ทุกช่วงปิดเทอมหรือวันหยุดยาวก็จะกลับชุมพร รู้สึกว่าที่ตรงนั้นเป็นบ้าน ที่เล่นประจำในวัยเด็กคือโรงไม้ ได้ไปเห็นช่างไม้ ไปดูสิ่งประดิษฐ์ในโรงไม้ เลยเลือกเรียนต่อด้าน Industrial Design เพราะคิดว่ามันตรงกับสิ่งที่เราอยากจะทำ แต่พอเรียนจบมา เราเริ่มเข้าใจโลกมากขึ้น เข้าใจธุรกิจมากขึ้น ถ้าเราจะไปต่อให้มันรุ่ง เราน่าจะต้องต่อยอดจากพื้นฐานที่เรามีอยู่นั่นคือธุรกิจโรงแรม แนวคิดอะไรหลายอย่างก็เปลี่ยนไปตามประสบการณ์ที่เราเจอ”
อยากพัฒนาธุรกิจให้มั่นคง คือจุดเปลี่ยนที่ทำให้กลับมาทำที่บ้าน
คุณภูมิยอมรับว่า ผลกระทบจากช่วงวิกฤตเศรษฐกิจปี 40 ทำให้ธุรกิจที่บ้านได้รับผลกระทบต่อเนื่องกว่า 10 ปี เมื่อเติบโตขึ้น เขาจึงมีความตั้งใจที่จะทำให้ธุรกิจมั่นคงและไม่กลับไปอยู่จุดที่จะเผชิญปัญหาเช่นนั้นอีก
“ผมเห็นที่บ้านทำงานหนักขึ้น เรารู้สึกว่า มันเป็นสิ่งที่ยังติดอยู่ในใจ เราจะทำอย่างไรเพื่อพัฒนาธุรกิจเราให้ไกลจากจุดวิกฤตที่สุด เลยเป็นจุดที่ทำให้เราอยากกลับมาทำที่บ้าน ทำสิ่งที่มีอยู่ให้มันดียิ่งขึ้นไปอีก เราต้องพัฒนาตัวเองให้มากขึ้น หาความรู้ให้มากขึ้น ประยุกต์กับสิ่งที่เรียนมา เอามาพัฒนาที่บ้านให้ไปต่อได้”
เรียนรู้ระบบเดิมก่อนเข้าไปเปลี่ยนแปลง
ช่วงที่กลับมาช่วยที่บ้านแรกๆ คุณภูมิใช้เวลากว่า 2 ปีในการทำความเข้าใจระบบเดิม เข้าไปพูดคุยคลุกคลีกับคนทำงาน ก่อนจะค่อยๆ เปลี่ยนแปลงระบบเพื่อการทำงานที่สะดวกและมีประสิทธิภาพมากขึ้น
“หลายคนจะรีบเอาสิ่งที่อยากเปลี่ยนแปลงมาใส่ แน่นอนว่าจะมีแรงต้านอยู่แล้วเป็นเรื่องปกติ ตอนนั้นผมเข้าไปเรียนรู้ระบบก่อน เข้าไปอยู่กับคนที่เขาทำระบบ แม้ในใจเราจะมีทิศทางว่าอยากเปลี่ยนแปลงไปทางไหน แต่สิ่งที่รีบไม่ได้เลยคือ เราต้องไปเรียนรู้ก่อนว่าเขาทำมาแบบไหน เราถึงจะรู้ว่าจะพัฒนาได้อย่างไร“
“ผมเข้าไปเปลี่ยนแปลงโดยเริ่มจากระบบซอฟต์แวร์ทั้งหมดเลย เราเห็นว่า ถ้ามีซอฟต์แวร์จัดการระบบ จะทำให้การทำงานง่ายขึ้นเมื่อเทียบกับระบบแมนนวล เราพยายามหาระบบไปใส่ให้เกิดข้อผิดพลาดน้อยลง ผมมองว่า สิ่งที่จะทำให้การทำงานกับทุกคนราบรื่น คือเราได้เข้าไปเห็นปัญหา และเรามีวิธีแก้ไขไม่ให้มันเกิดขึ้นซ้ำ เราค่อยๆ ใส่สิ่งที่เราอยากพัฒนาลงไป สุดท้าย คนทำงานด้วยกันจะเข้าใจ เพราะมันลดปัญหาที่เกิดขึ้นได้จริง”
แบ่งงานกันตามความถนัดของคนในครอบครัว
คุณภูมิกลับมาสานต่อธุรกิจที่บ้านร่วมกับน้องชาย โดยทั้งคู่มีความคิดเห็นตรงกันว่า ควรแบ่งหน้าที่การทำงานตามความถนัดของแต่ละคน และสื่อสารความคิดความรู้สึกระหว่างกันอยู่เสมอ ทำให้การทำงานเป็นไปอย่างราบรื่นและพัฒนาไปในทิศทางเดียวกัน
“ตอนแรกเราก็เรียนรู้ทุกอย่าง อยากทำทุกอย่าง แต่มันจะชัดขึ้นว่าอะไรที่เราถนัดและไม่ถนัด และแบ่งงานกับน้องชายที่ถนัดในเรื่องที่แตกต่างกัน เราคุยกันบ่อย เรื่องความชอบ เรื่องรสนิยม คิดว่าเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องมีแนวคิดในการทำงานที่สอดคล้องกัน เพราะในการทำธุรกิจโรงแรม ถ้าสไตล์หรือภาพลักษณ์ไม่ตรงกัน ก็จะเกิดปัญหาได้”
ตัดสินใจร่วมกันจากข้อมูลที่เชื่อถือได้
การเข้ามาเปลี่ยนแปลงภาพลักษณ์ของธุรกิจที่อยู่มานานถือเป็นเรื่องท้าทาย แต่คุณภูมิใช้วิธีนำเสนอข้อมูลที่ผ่านการวิเคราะห์มาอย่างรอบคอบ เพื่อให้สมาชิกในครอบครัวได้ร่วมตัดสินใจเลือกเส้นทางที่ดูมีประสิทธิภาพมากที่สุด
“เวลาคุยกับที่บ้าน ส่วนใหญ่ผมจะมีข้อมูลอ้างอิงจากตัวอย่างที่เคยประสบความสำเร็จมาแล้ว เอาข้อมูลและเหตุผลมาคุยกัน ผมเคยทำงานด้านอสังหาริมทรัพย์ที่ต้องไปสำรวจที่ สำรวจราคา สำรวจลูกค้าและความเป็นไปได้ของโครงการ เลยได้นำทักษะเหล่านั้นมาใช้กับที่บ้านด้วย อะไรที่เป็นด้านอารมณ์เราจะแยกเอาไว้ก่อน แล้วเลือกวิธีการที่ดูเป็นไปได้มากที่สุด การมีความเห็นไม่ตรงกันถือเป็นเรื่องปกติ แต่สุดท้ายถ้าคุยแล้วทะเลาะ ก็ใช้เวลาและความใจเย็นค่อยๆ คุยกัน”
เกื้อหนุนชุมชนอย่างยั่งยืน
ชุมพรคาบาน่ารีสอร์ตนับเป็นรีสอร์ตที่ให้ความสำคัญกับเรื่องธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และแนวคิดดังกล่าวส่งต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่นจวบจนถึงปัจจุบัน
“รุ่นคุณพ่อจะเน้นเรื่องสิ่งแวดล้อมและชุมชนเยอะหน่อย คุณพ่อสนใจงานเพื่อสังคม กิจกรรมที่จัดในโรงแรมเลยเชื่อมโยงกับการพัฒนาชุมชน เช่น พาทัวร์ชุมชน พาไปดูอนุบาลเพาะเลี้ยงปูที่ชุมชนประมงสามเสียม มีกิจกรรมปลูกป่าชายเลน หรือที่ชุมพรขึ้นชื่อเรื่องโกโก้กับกาแฟ เราก็พาลูกค้าไปดูสวนโกโก้และทำกิจกรรมที่นั่น ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้เราจัดตามฤดูกาลที่ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันไป ส่วนร้านอาหารที่รีสอร์ตก็ใช้วัตถุดิบจากกลุ่มประมงท้องถิ่นช่วยเกื้อหนุนคนในชุมชนด้วยกัน”
ความยั่งยืนของชุมชน คือปณิธานที่ชุมพรคาบาน่ารีสอร์ตยึดถือไม่เปลี่ยนแปลง
แม้การรับช่วงต่อธุรกิจจะมีหลายแง่มุมที่เราอยากจะเข้าไปเปลี่ยนแปลง แต่คุณภูมิตั้งใจไว้แล้วว่า ปณิธานข้อหนึ่งที่จะไม่เปลี่ยนไป คือเรื่องการอนุรักษ์พัฒนาชุมชนและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
“เรื่องที่จะไม่เปลี่ยนเลย คือเรื่องชุมชนและสิ่งแวดล้อม ถ้าเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น เราเปลี่ยนได้อยู่แล้ว แต่ถ้าการเปลี่ยนแปลงนั้นทำให้สิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรมลง เราไม่ทำ เราคุยกันในครอบครัวเสมอว่า ต่อให้เราพัฒนาขยายธุรกิจอย่างไร ชุมชนและสิ่งแวดล้อมก็ต้องได้รับการพัฒนาไปพร้อมๆ กัน เราจะไม่ทำธุรกิจที่ได้กำไรสูง แต่มันทำลายน้ำ ทำลายชายหาด ทำลายสภาพแวดล้อมที่มันเป็นอยู่ เป็นความตั้งใจตั้งแต่สมัยคุณปู่คุณย่า จนมาถึงคุณพ่อที่เน้นมากเรื่องการรักษาสิ่งแวดล้อมที่เราเห็นแบบนี้มาโดยตลอด จึงซึมซับแนวคิดนี้มาด้วยเช่นกัน”
ชูจุเด่นด้วยกิจกรรมดำน้ำ ดูฉลามวาฬ
“กิจกรรมดำน้ำเป็นสิ่งที่คู่กับชุมพรคาบาน่ามานานแล้ว เพราะทั้งคุณปู่และคุณย่าสนใจกิจกรรมนี้เป็นทุนเดิม พอมาทำโรงแรมเองจึงริเริ่มกิจกรรมนี้ขึ้นมา เมื่อก่อนที่โรงแรมบริการเองทั้งหมด ตอนนั้นความเข้าใจเรื่องการดำน้ำยังไม่แพร่หลายเท่าไหร่ ต้องใช้เวลาให้คนเริ่มคุ้นชินกับกิจกรรมดำน้ำ โชคดีที่ปัจจุบันคนนิยมทำกิจกรรมนี้มากขึ้น ธุรกิจเลยดำเนินไปในทิศทางที่ดี”
“จุดเด่นอย่างหนึ่งของชุมพรคือ บริเวณหาดทุ่งวัวแล่นเป็นจุดที่มีฉลามวาฬผ่านเข้ามาทุกปี ฤดูร้อนถือเป็นฤดูฉลามวาฬที่ดึงดูดนักดำน้ำให้มาถ่ายภาพ ถ่ายวิดีโอเก็บไว้ ปัจจุบันโรงแรมทำงานร่วมกับธุรกิจดำน้ำในพื้นที่ในการเข้ามาช่วยดูแลกิจกรรมเหล่านี้ ซึ่งถือเป็นการสนับสนุนชุมชนท้องถิ่นด้วย”
เห็นโอกาสในความท้าทายของการทำธุรกิจ
“เป็นคำถามที่คุยกันตลอด ว่าถ้ามองเรื่องโอกาสทางธุรกิจ ถ้าเราไปตกปลาในบ่อที่ปลาเยอะ ถึงตกไม่เก่ง เราก็ยังพอจะได้ปลา แต่ถ้าไปตกในบ่อที่ปลาน้อย ก็ต้องใช้ฝีมือมากขึ้น ในขณะเดียวกัน เราก็ได้คำตอบอีกอย่างหนึ่งว่า การที่เราอยู่เมืองรอง เราได้โอกาสที่ทำให้เราพัฒนาเติบโตไปได้อีกหลายทาง เราเลยต้องหาอะไรที่มันเจาะตลาดเฉพาะกลุ่มมากขึ้น ได้ลองสร้างสรรค์อะไรใหม่ๆ มันก็ท้าทายดี มองให้เป็นความสนุกในการพัฒนาตัวเองและพัฒนาชุมชนด้วย เราเองก็ต้องสร้างสรรค์อะไรใหม่ๆ ตลอดเวลา คอยมองหาโอกาสและพร้อมปรับตัวอยู่เสมอ ให้สอดคล้องกับกระแสการท่องเที่ยวในปัจจุบัน”
ความท้าทายของการสานต่อธุรกิจที่อยู่มากว่า 40 ปี
บางคนมองว่า การเข้ามาสานต่อธุรกิจที่มีรากฐานมั่นคงอยู่แล้ว น่าจะเป็นข้อได้เปรียบสำหรับทายาท แต่คุณภูมิมีมุมมองว่า ความท้าทายอยู่ที่ การเข้าไปเปลี่ยนแปลงวิถีและแนวคิดที่ฝังรากลึกไปกับองค์กรและการหาวิธีที่ทำให้ทั้งองค์กรพัฒนาไปในทิศทางเดียวกัน
“ธุรกิจมันต้อง Disrupt ตัวเองอยู่เรื่อยๆ เพื่อจะได้เกิดสิ่งใหม่ตลอด แต่ด้วยธรรมชาติของคนทั่วไป มักจะเคยชินกับสิ่งที่ทำมาจนชำนาญ ก็ต้องใช้เวลาค่อยๆ ปรับเปลี่ยนไป การทำงานกับคนน่าจะเป็นเรื่องยากที่สุดแล้ว เรื่องระบบมันมีความแน่นอน ทำงานไปตามระบบที่เราตั้ง แต่เรื่องคนมีปัจจัยมากกว่านั้น เป็นเรื่องที่ผมเองก็ยังต้องเรียนรู้อยู่ตลอดเช่นกัน”
ฝากถึงทายาทธุรกิจ เรียนรู้ให้กว้างเพื่อเปิดโอกาสให้ธุรกิจเติบโต
“สิ่งที่จะทำให้เรากล้าทำอะไรได้มากขึ้นคือความรู้ที่เรามี และสิ่งที่ควรทำให้เป็นนิสัยเลย คือเรียนรู้ให้กว้างกว่าสิ่งที่เรามีอยู่ บางทีเราเคยชินกับสภาพธุรกิจที่มันเป็นอยู่ และมักตั้งคำถามตลอดว่าทำไมเป็นอย่างนั้น ทำไมเป็นอย่างนี้ เราลองเปลี่ยนมาตั้งคำถามที่ใหญ่ขึ้น หาความรู้จากเรื่องอื่นๆ ที่กว้างขึ้น ออกไปดูออกไปเห็น เรียนรู้อะไรที่ไม่ได้อยู่แค่ในสายงาน บางทีเรื่องเหล่านี้ประกอบกันก็ทำให้เราเห็นโอกาสใหม่ๆ ในธุรกิจที่บ้านเราได้ คุณสมบัติที่จะช่วยให้เรากลับมาพัฒนาสิ่งที่มีอยู่ให้ดีขึ้น คือการเป็นคนรักการเรียนรู้อยู่เสมอ เพราะความรู้มันจะสร้างโอกาสให้กับธุรกิจเราได้”