สองพี่น้องทายาท 'อาม้าเบเกอรี่' ที่สานต่อความทรงจำและเอกลักษณ์ในแบบรุ่นที่ 3

สองพี่น้องทายาท 'อาม้าเบเกอรี่' ที่สานต่อความทรงจำและเอกลักษณ์ในแบบรุ่นที่ 3

ทำที่บ้าน


หากพูดถึงขนมปังสังขยาใบเตยที่อร่อยขึ้นชื่อ “อาม้าเบเกอรี่” ร้านในตำนานที่อยู่คู่ย่านวัดแขก ถนนสีลม คงเป็นหนึ่งในร้านท็อปลิสต์ของใครหลายๆ คนอย่างแน่นอน ปัจจุบันร้านขายขนมปังแห่งนี้ส่งผ่านความอร่อยกันมายาวนานกว่าครึ่งศตวรรษ จนถึงรุ่นที่ 3 แล้ว วันนี้ทายาทรุ่นหลาน “ซี-อภิญญา เมฆคุ้มครอง” และ “อุ๋ม-ชุติกาญจน์ เมฆคุ้มครอง” จะมาแบ่งปันความรักความผูกพันที่มีต่อร้านขนมปังแห่งนี้ รวมถึงประสบการณ์และบทเรียนที่พวกเธอได้เรียนรู้จากการลงมือ ‘ทำที่บ้าน’ อย่างเต็มตัว 



จุดเริ่มต้นธุรกิจขายขนมปังของครอบครัว

ร้านอาม้าเบเกอรี่มีจุดเริ่มต้นจากรุ่นอากงอาม่า สมัยหนุ่ม อากงมีโอกาสได้ทำงานในโรงงานขนมปังจนเกิดความชำนาญและคุ้นเคย จึงออกมาทำร้านขนมปังของตนเองในย่านสีลม โดยมีอากงเป็นคนทำ และอาม่าเป็นคนขาย สมัยแรกเริ่มขายขนมปังแถว ไม่มีไส้ จนมาถึงรุ่นคุณพ่อมารับช่วงต่อ และทำขนมปังใส่ไส้เพิ่มขึ้นมา โดยมีคุณแม่คอยช่วยคิดและทดลองทำสูตรไส้ขนมปังต่างๆ รวมถึงขนมปังไส้สังขยาที่กลายเป็นขนมปังขึ้นชื่อของร้านจนถึงทุกวันนี้ 

ที่มาของชื่อร้าน อาม้าเบเกอรี่ 

“อาม้า มาจากคำที่คุณพ่อเรียกอาม่าว่า ‘หม่าม้า’ เมื่อก่อนอาม่าปั่นจักรยานไปขายขนม คนก็จำได้ว่าเป็นขนมอาม่าๆ พอมาถึงรุ่นคุณพ่อ เขามีความตั้งใจอยากให้ชื่อร้านมีชื่อของพ่อแม่อยู่ด้วย ประกอบกับที่คุณพ่อเคยไปขอพรจากพระแม่ที่วัดแขกว่า ขอให้มีทำเลดีๆ ไว้เปิดร้านขนมปัง จนได้ห้องเช่ามาเปิดร้านในที่สุด พ่อกับแม่ก็มาคุยกันว่า คำว่า ‘อาม้า’ มันดูคล้องกับคำว่า ‘หม่าม้า’ และ ‘อามะ’ ซึ่งเป็นคำที่คนมักใช้เรียกพระแม่ที่วัดแขก คุณพ่อจึงเลือกใช้ชื่อนี้มาจนถึงปัจจุบัน” 

เติบโตมาในร้านขนมปังจนผูกพัน

สองพี่น้องเล่าว่า เติบโตมากับร้านขนมปังแห่งนี้ตั้งแต่เด็ก มีความทรงจำมากมายเกี่ยวกับขนมปัง เช่น การได้แบ่งปันเค้กแสนอร่อยของที่บ้านกับเพื่อนที่โรงเรียนในโอกาสพิเศษ แม้จะยังไม่ได้เข้าไปคลุกคลีกับงานในร้านมากนัก แต่ก็เห็นกระบวนการทำงานจนคุ้นตา 

“รู้สึกว่า มันเป็นกิจการที่ทำที่บ้านจริงๆ เพราะทำที่บ้าน ขายที่บ้าน บ้านกับร้านคือที่เดียวกันเลย เติบโตมาพร้อมกัน และเรารู้สึกชอบที่เป็นอย่างนี้ด้วย สมัยอนุบาล เวลาวันเกิด วันพิเศษของโรงเรียน เราจะได้เอาเค้กไปกินกับเพื่อนๆ รู้สึกดีที่มีเค้กอร่อยจากที่บ้านไปแบ่งปัน เป็นความทรงจำดีๆ ที่เราจำได้จนถึงทุกวันนี้”

แยกย้ายกันไปเรียนรู้ในสิ่งที่สนใจ

คุณซีและคุณอุ๋มต่างเห็นตรงกันว่า ทั้งคู่โชคดีที่อยู่ในครอบครัวที่พร้อมสนับสนุนและให้อิสระในการตัดสินใจเลือกเส้นทางของตนเอง โดยไม่กดดันว่าต้องกลับมาทำร้านขนมปังต่อจากที่บ้าน คุณซีเรียนจบวิศวกรรมศาสตร์ ส่วนคุณอุ๋มเรียนภาษาฝรั่งเศสและสนใจไปเรียนต่อด้านการทำขนมที่ประเทศฝรั่งเศส ทั้งสองคนได้ไปทดลองเรียนรู้ในสิ่งที่ชอบ ก่อนที่สถานการณ์จะพาให้คุณอุ๋มและคุณซีกลับมาดูแลกิจการที่บ้านในภายหลัง 

“อุ๋มชอบกินขนมหวาน คุณพ่อก็เป็นคนชอบกิน มักจะหาร้านอร่อยกินกัน สมัยก่อนไม่มีสื่อโซเชียลเลย แต่คุณพ่อรู้หมดว่ามีร้านอร่อยอยู่ตรงไหนบ้าง แล้วมาชวนที่บ้านไปกิน อุ๋มคิดว่า ในเมื่อเราชอบกิน แล้วที่บ้านเราก็ทำร้านขนมปัง ถ้าเราทำได้ดี มันก็อาจจะดีก็ได้ บวกกับความฝันตอนเด็กที่อยากไปเรียนต่างประเทศ ทุกอย่างมันดูน่าจะไปด้วยกันได้ เลยลองไปเรียนทำขนมที่ฝรั่งเศสดู”​

จุดเปลี่ยนที่ทำให้กลับมา ‘ทำที่บ้าน’ 

“ช่วงที่เรียนวิศวะฯ จบ ซีคิดไว้ว่าจะไปทำงานข้างนอกก่อนสักพักค่อยกลับมา เพราะรู้ว่า อย่างไรร้านก็ต้องมีคนสานต่อ แต่พอช่วงที่เรียนจบ คุณพ่อป่วย ตอนนั้นอุ๋มบินไปฝรั่งเศสแล้ว ซีเลยต้องเข้ามาดูแลร้านเต็มตัว คิดว่ารักษาพ่อไปก่อน ถ้าสถานการณ์มันแย่ลง เราจะบอกให้น้องกลับมาช่วยกัน สุดท้ายน้องก็กลับมาช่วยดูแลร้านและดูแลคุณพ่อไปด้วย เป็นระยะเวลาประมาณครึ่งปี ตอนนั้นเราทำอะไรได้เราก็ทำ แก้ไขสถานการณ์ตรงหน้าไปก่อน” 

“ตอนนั้นอุ๋มเรียนที่ฝรั่งเศส กำลังสนุกเลย แต่พอรู้ข่าวคุณพ่อก็ตัดสินใจกลับมาเลย จังหวะชีวิตทำให้เราเข้ามาในธุรกิจพร้อมๆ กัน จากที่เคยแพลนไว้ว่า เรียนจบจะฝึกงานที่ฝรั่งเศสก่อน แล้วค่อยกลับมาทำร้านขนมหรือเปิดคาเฟ่ที่ไทย กลายเป็นต้องกลับมาทำร้านเลย แต่เข็มทิศชีวิตก็เริ่มบอกทิศทางแล้วแหละว่าเราชอบสิ่งนี้”  


ความแตกต่างของการทำงานรุ่นพ่อแม่และรุ่นเรา


เมื่อต้องเข้ามาบริหารร้านขนมปังด้วยตนเอง ทำให้พี่น้องทั้งคู่เห็นความแตกต่างด้านการทำงานระหว่างรุ่นพ่อแม่และรุ่นตนเอง ในแง่การวางระบบหลังบ้านเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพงาน แทนการต้องใช้ระบบแมนวลในทุกขั้นตอน ทั้งสองคนช่วยกันดูแลร้านโดยแบ่งตามความถนัดของแต่ละคน คุณซีรับหน้าที่ดูแลระบบหลังบ้าน คลังสินค้า ทำบัญชี ส่วนคุณอุ๋มดูแลระบบหน้าร้าน การทำขนมและการทำการตลาดทางสื่อต่างๆ 

“เมื่อก่อนการขายของของพ่อแม่เราเป็นการขายแบบไม่มีระบบ ไม่รู้ใครมาก่อน เห็นหน้าคนนี้ก่อนก็ขายก่อน พอเราเข้ามาแล้วไม่เป็นระบบ เราก็ต้องปรับบ้างเพื่อให้มันรวดเร็วขึ้น เราสังเกตจากพฤติกรรมลูกค้าว่าชอบสั่งอะไร แบบไหน อะไรขายได้เยอะสุด แล้วมาคำนวณ แพ็กสินค้าเตรียมไว้ เช่น สังขยา 5-10 ชิ้นต่อกล่อง ทำให้ขายได้ไว ใช้เวลาน้อยลง เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานได้” 

“สำหรับขนมในร้าน เราไม่ได้ใช้ความรู้ที่ไปเรียนที่ฝรั่งเศสมาทั้งหมด เพราะคนมีนิสัยการกินต่างกัน แต่เราเอามาปรับให้มันเข้ากับวิถีของคนไทยมากกว่า เช่น ฝรั่งจะชอบกินขนมปังที่มันแข็งๆ หน่อย แต่ของร้านเราจะเป็นขนมปังเหนียวนุ่ม หรือเราเคยทำเอแคลร์แบบฝรั่งเศส แต่พอทำร้านตัวเอง เราลองทำเอแคลร์ใบเตย มีสังขยาที่ร้านเป็นตัวชูโรง ก็มีเสียงตอบรับที่ดี ความรู้ที่เรียนมามันได้ในแง่การคิดเป็นระบบเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และการลองใช้ความคิดสร้างสรรค์เพื่อเพิ่มตัวเลือกขนมให้เยอะขึ้น ลูกค้าพอใจขึ้น อะไรที่ดีอยู่แล้วเราก็เก็บไว้ อะไรที่ดีขึ้นได้อีก เราก็พยายาม”


สิ่งที่ต้องเปลี่ยน และสิ่งที่จะไม่เปลี่ยนของอาม้าเบเกอรี่


“สิ่งไม่เปลี่ยนแน่ๆ คือคุณภาพสินค้า คุณภาพขนมของเรามันดีมาก จากการฟังเสียงสะท้อนจากลูกค้าเวลาเราไปออกร้านนอกสถานที่ การออกร้านก็ช่วยสอนเราด้วยว่า คุณภาพสินค้าเป็นเรื่องสำคัญ และการพาตัวไปเองอยู่ให้ถูกที่ ให้ตรงกลุ่มเป้าหมาย ก็สำคัญไม่แพ้กัน ส่วนสิ่งที่ต้องเปลี่ยน คือการรับฟังความคิดเห็นของลูกค้าและหาวิธีพัฒนาให้ตอบโจทย์มากขึ้น เป็นเรื่องที่เรากำลังพยายามอยู่ เช่น ลูกค้าถามว่า ทำไมของหมด ทำไมช้าจัง มันทำให้เราพัฒนาและเปลี่ยนประสิทธิภาพในครัวตลอดเวลา อาจต้องทำเพิ่ม แต่เราจะเพิ่มอย่างไรให้เราอยู่ได้ด้วย เมื่อก่อนก็เคยคิดว่า ฉันจะไม่เปลี่ยน เพราะมันดีอยู่แล้ว แต่ก็ได้เรียนรู้ว่า ทุกอย่างมันเปลี่ยนได้ เพื่อให้มันดีขึ้น”

ยึดความสะดวกของลูกค้าเป็นหลักในการปรับเปลี่ยน


ก่อนหน้านี้ ทายาททั้งสองเคยมีความคิดที่จะปรับโฉมร้านใหม่ เช่น ติดตั้งเครื่องปรับอากาศ ทำเป็นห้องกระจกให้ดูสวยงามทันสมัยมากขึ้น แต่หลังจากตกตะกอนร่วมกันก็พบว่า ลูกค้าสะดวกกับรูปแบบร้านที่เน้นความรวดเร็วแบบในปัจจุบันมากกว่า พวกเขาจึงเน้นที่คุณภาพขนมปังและประสิทธิภาพด้านการผลิตเพื่อตอบโจทย์ความต้องการจริงๆ ของลูกค้าแทน

“เรามานั่งคุยกันแล้วพบว่า ลูกค้าไม่ได้ดูว่าร้านทันสมัยไหม แต่เขาดูที่ผลิตภัณฑ์ งั้นเราไปเน้นที่คุณภาพขนมดีกว่า ด้วยความที่หน้าร้านเป็นแบบ Grab and Go ถ้าจะทำร้านติดแอร์มันไม่ได้ตอบโจทย์ตรงนี้ เราไปทำครัวใหม่ให้ผลิตขนมได้มากขึ้นและเพียงพอต่อลูกค้าดีกว่า สุดท้ายเรายึดลูกค้าเป็นศูนย์กลาง ถ้าจะเปลี่ยนอะไรสักอย่างก็เปลี่ยนจากมุมของลูกค้าเป็นหลัก ในอนาคตเราอยากให้ครัวของเรามีประสิทธิภาพและคุณภาพมากขึ้นไปอีก ให้มีไลน์ผลิตขนมเยอะขึ้น เข้าถึงลูกค้าได้เยอะขึ้นผ่านการทำการตลาดให้คนเห็น ให้เด็กรุ่นใหม่ได้รู้จักร้านเรามากขึ้น” 

ขยันสร้างคอนเทนต์ให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น 

ด้วยความที่คุณอุ๋มเพลิดเพลินกับการดู social media และงานศิลปะต่างๆ เธอจึงมีไอเดียใหม่ๆ มาลองทำที่ร้านอยู่เสมอ ที่สำคัญ เธอมีความสุขที่ได้ทำในสิ่งที่ชอบควบคู่ไปกับการทำธุรกิจด้วย ผลตอบรับจากลูกค้าก็ดีกว่าที่คาดไว้มาก เป็นกำลังใจให้เธอผลิตเนื้อหาทำการตลาดให้ร้านต่อไป 

“อุ๋มชอบเล่นโซเชียล คิดว่าเป็นช่องทางโปรโมตร้านได้นะ ตอนแรกไม่รู้สึกว่ามันมีผลอะไร แต่พอหลังๆ รู้สึกว่า คนดูติดตามเราเยอะขึ้น ใช้รูปที่เราลงมาสั่งสินค้าเยอะขึ้น เลยรู้สึกว่า การตลาดแบบนี้มันก็ได้ผลดีเหมือนกัน เราได้ใช้ทรัพยากรที่เรามี ได้ลองทำในสิ่งที่ตัวเองชอบ เราไม่ได้คาดหวังด้วย ไม่ได้หมดกำลังใจ ถ้าคนดูเยอะก็ดีใจ คนดูน้อยเราก็ไม่ท้อ คิดว่าจะปรับแก้อะไร เดี๋ยวคลิปหน้าลงใหม่ ให้กำลังใจตัวเองแบบนี้แทน”  

ความยากของการกลับมาทำที่บ้าน 


ทายาททั้งสองมองว่า ความท้าทายของการกลับมาทำที่บ้าน คือเรื่องการเรียนรู้หน้างานและการสื่อสารกับคนในครอบครัว เพื่อรักษาทั้งประสิทธิภาพงานและความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกัน ทักษะที่จำเป็นคือการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ การมีความยืดหยุ่นในการสื่อสารความคิดเห็น โดยใช้เวลาเป็นตัวช่วยให้ทุกอย่างเข้าที่เข้าทางมากขึ้น 

“ตอนมาทำงานแรกๆ พี่ๆ พนักงานช่วยเราเยอะมาก เพราะเราไม่รู้และไม่มีประสบการณ์มาก่อน แต่การต้องเผชิญกับปัญหาและแก้ปัญหาไปเรื่อยๆ ทำให้เราได้เรียนรู้และเติบโตขึ้นมาก” 

“พอกลับมาทำที่บ้าน ความเป็นแม่ลูกมันเยอะกว่าความเป็นเพื่อนร่วมงาน เขาคิดว่าเขาทำมาดีแล้ว เวลาเราจะเปลี่ยนแปลงอะไร เราต้องคุยกันก่อน และต้องใช้ความพยายามในการคุยมากขึ้น เพราะเขาเป็นทั้งแม่และเพื่อนร่วมงาน ถ้าคุยรอบแรกไม่ผ่าน ถอยก่อน แล้วไปคุยใหม่ สุดท้ายเขาก็ยอมให้ทำ จนเขาได้เห็นว่าทำแล้วมันดีขึ้นจริงๆ ทำที่บ้านมันต้องคุยซ้ำๆ เข้าใจว่ารุ่นพ่อแม่เติบโตจากคนธรรมดามาเป็นคนทำธุรกิจขนาดเล็ก แต่รุ่นเรามาจากคนทำธุรกิจขนาดเล็กที่อยากทำให้มันโตขึ้น เราต้องทำให้หมวกของความเป็นลูกและลูกน้องมันสมดุลกัน” 


ฝากถึงทายาท


“อุ๋มว่า พอมันเป็นธุรกิจครอบครัว เราจะมีความเป็นนักสู้อยู่ในตัว อยากทำให้ดีเพราะมันคือครอบครัวของเรา ถ้านี่ไม่ใช่ธุรกิจของพ่อแม่ อุ๋มก็คงหมดไฟแล้วเหมือนกัน แต่เพราะเขาทำมาอย่างดี เราอยากทำให้มันดีขึ้นไปอีก ไม่อยากให้ใครมาพูดว่า เราไม่ได้ทำให้มันดีขึ้น ความรักความผูกพันเป็นแรงผลักดันให้เราทำมันต่อให้ดี”

“สำหรับซี ตอนแรกไม่คิดว่าจะมาทำ คิดว่าไปทำข้างนอกก่อน ไม่ใช่ทุกคนที่มาทำธุรกิจครอบครัวแล้วจะประสบความสำเร็จ มันเป็นเรื่องยากเหมือนกัน ด้วยปัจจัยหลายอย่างที่ต่างกันตามยุคสมัย แต่ก็คงเพราะเรารักแหละ เราถึงอยากทำต่อ และอยากทำให้ดีขึ้น พ่อแม่สร้างมาขนาดนี้แล้ว”

“อุ๋มมองอีกแง่คือ ทุกธุรกิจมีปัญหา เราอาจคิดว่า ของคนอื่นดีจังเลย แต่ทุกคนมีปัญหาทุกวัน เราอาจไม่สามารถแก้ปัญหาได้ทุกเรื่องในตอนนั้น แต่ถ้าเราหาทางและพยายาม เราอาจแก้ไขได้ก็ได้ เป็นกำลังใจให้ทุกคน เพราะรู้ว่าการทำธุรกิจมันยาก และอย่าเอาตัวเองไปเปรียบเทียบกับใคร ถ้าเปรียบเทียบเพื่อให้ตัวเองดีขึ้นก็โอเค แต่ถ้าเปรียบเทียบแล้วบั่นทอน ก็อย่าทำดีกว่า”