ทำไมผู้ใหญ่ชอบพูดว่า “เด็กสมัยนี้ไม่อดทน”?
ชวนไปทำความเข้าใจมุมมองฝั่งลูก และฝั่งของพ่อแม่ ว่ามองต่างกันอย่างไรในเรื่องนี้
ใครเคยตัดสินใจที่จะ ‘ไม่ทำ’ หรือ ‘ล้มเลิก’ อะไรบางอย่าง เพราะคิดว่าตัวเองอยู่ไปก็ไม่โต หรือไม่มีความสุขที่จะทำแล้วบ้าง ตั้งแต่การ 'ซิ่ว' มหาวิทยาลัย จนถึงการ ‘ลาออก’ จากงาน หรือที่หนักที่สุดคือการไม่ยอมรับสืบทอดกิจการครอบครัวไปเลย
เชื่อว่าถ้าคุณเคยเลือกทำสักข้อข้างต้น คำพูดที่ได้กลับมาจากพ่อแม่คงหนีไม่พ้นการบอกว่า “ไม่อดทน” แน่นอน
“แม่ว่าลองทนทำไปก่อนดีไหม”
“ทำไมลูกไม่รู้จักอดทนเอาซะเลย”
“แค่นี้ยังทนไม่ได้ แล้วอย่างนี้จะไปทำอะไรได้”
‘หนักเอาเบาสู้’ คำนี้จะดูมีพลังขึ้นมาทันที เมื่อเรานำไปใช้กับสิ่งที่ตัวเองชอบ และเต็มใจที่จะยอมอดทนเพื่อแลกสิ่งนั้นมา แต่กับสิ่งที่ไม่ใช่ หรือไม่มีใจรักที่จะทำ และต้องการไปเริ่มต้นใหม่กับสิ่งที่ตอบโจทย์กว่า ทำไมในมุมของพ่อแม่ถึงมีคำบัญญัติให้แค่ว่า ‘ไม่อดทน’ กับ ‘ล้มเลิกง่าย’ เท่านั้น
หลายครั้งที่เรื่องนี้ถูกโยงไปถึงประเด็นของ Generation Gap ที่มีความคาดหวังต่อคนต่างวัยแตกต่างกัน จนส่งผลให้เกิดช่องว่าง และไม่เข้าใจกันในที่สุด
John Protzko และ Jonathan W. Schooler นักจิตวิทยา ได้อธิบายไว้ในบทความเรื่อง “Kids these days” ว่า ผู้ใหญ่มักมองรุ่นลูกรุ่นหลาน (รุ่นที่มีอายุน้อยกว่าตนเอง) ด้วยประสบการณ์ที่ผ่านมาในอดีต ส่งผลให้มีมุมมองกับคนอีกรุ่นไปในทิศทางที่ไม่เป็นกลางนัก ทำให้รุ่นลูกรุ่นหลานทำอะไรออกมาไม่ได้ดั่งใจสักเท่าไร
แน่นอนว่าคนแต่ละรุ่นให้ความสำคัญกับชีวิตแตกต่างกันออกไป อย่างรุ่นของปู่ย่าตายายมักให้ความสำคัญกับการแต่งงาน มีลูก และเลี้ยงหลาน ส่วนรุ่นพ่อแม่มักให้ความสำคัญกับการประสบความสำเร็จ โดยยอมทำงานหามรุ่งหามค่ำ อดทนอดกลั้น และขยันขันแข็งเพื่อสร้างฐานะที่มั่นคง
ทว่ารุ่นลูกกลับให้ความสำคัญกับเรื่องของความสุขและสบายใจมากกว่าสิ่งอื่น บวกกับยุคนี้มีการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี สังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อมเกิดขึ้นในทุกๆ วัน จึงทำให้มีตัวเลือกใหม่ๆ เพิ่มขึ้นตามมาด้วย ส่งผลให้คนรุ่นนี้รู้ความต้องการของตัวเองเร็ว และกล้าตัดสินใจเดินออกมาจากสิ่งที่ไม่ใช่โดยไม่ต้องทนฝืนทำต่อ เพราะมองเห็นลู่ทางที่ช่วยสร้างทั้งความสุข การงาน และการเงินที่ดีกว่าได้
การมองความสำคัญของชีวิตที่แตกต่างกันนี้ เป็นผลให้คนแต่ละรุ่นตัดสินกันด้วยประสบการณ์ที่ผ่านมาของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นการที่ผู้ใหญ่มองการล้มเลิกอะไรง่ายๆ ของลูกเพราะไม่มีความอดทน ขี้เกียจ ไม่สู้งาน ฯลฯ และทางฝั่งลูกที่มองการล้มเลิกสิ่งที่ทำแล้วไม่ตอบโจทย์ ไม่มีความสุข และไม่เติบโตว่าเป็นการรู้ตัวเองเร็ว และหันไปหาช่องทางใหม่ๆ ที่ทำแล้วดีกว่าต้องทนอยู่อย่างนี้ต่อไป
ถึงกระนั้น พ่อแม่เองก็ไม่ได้มองแค่เรื่องของ ‘ความอดทน’ หรือ ‘ไม่อดทน’ เพียงอย่างเดียวเท่านั้น เพราะในความเป็นจริง พวกท่านมีความปรารถนาดี อยากให้ลูกมีภูมิคุ้มกันที่เข้มแข็งจากความอดทน เพื่อที่จะได้เติบโตไปสู่ความสำเร็จในเส้นทางที่ตัวเองเลือกอย่างมั่นคง โดยไม่ต้องเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาบ่อยๆ จนมาเสียดายเวลาภายหลัง
อย่างไรก็ตาม ความแตกต่างทางมุมมองของคนต่างรุ่นนั้นเรียกว่าเป็นความไม่เข้าใจกันเสียมากกว่า และไม่ควรมีใครยืนอยู่บนความผิดในเรื่องนี้ทั้งนั้น เพียงแต่ควรหาจุดกึ่งกลางเพื่อให้ทั้งสองฝ่ายได้ทำความเข้าใจในมุมมองของกันและกันมากขึ้น
ท้ายที่สุด เมื่อต่างฝ่ายต่างเปิดใจกว้าง ยอมลดอัตตาของตัวเองลง และนั่งลงแลกเปลี่ยนมุมมองกันอย่างตรงไปตรงมา ไม่แน่ว่า ทั้งเราและพ่อแม่อาจได้ร่วมกันสร้างทางเลือกใหม่ที่ดีกว่า ใหม่กว่า และสร้างความสบายใจให้กันและกันได้มากกว่าเดิมก็ได้
อ้างอิง: Kids these days: Why the youth of today seem lacking, John Protzko and Jonathan W. Schooler - https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC6795513/